นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่าพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดน้อมนำพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำสู่การปฏิบัติเพื่อสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน”พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” ซึ่งมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ความว่า “การใช้ความรู้ทางด้านวิชาการ ความรู้ทางการออกแบบ เรื่องฝีมือ จะต้องปรับปรุงฝีมือความปราณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ” ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทยให้ก้าวทันวิทยาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดจนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสู่เป้าหมายหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานและก้าวสู่ Brain Power ใน 20 ปีข้างหน้า ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและของกระทรวงแรงงาน จึงได้มีการยกระดับจัดตั้งสถาบันนำร่อง 12 แห่งให้เป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานและความมั่นใจแก่นักลงทุน นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า สถาบันนำร่อง ศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต12 จังหวัดตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้แก่ 1)สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 2สาขาโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวและบริการ(นานาชาติเชียงแสน) 2) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 สาขาเกษตรแปรรูปและอาหาร(อุดรธานี) 3) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง สาขาโลจิสติกส์/เมคาทรอนิกส์/ออโตเมชัน(ขอนแก่น) 4) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 สาขาสียานยนต์(อุบลราชธานี) 5) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (นครราชสีมา) 6) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออก สาขางานเชื่อม/ยานยนต์และชิ้นส่วน(ระยอง) 7) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออก สาขาโลจิสติกส์/ยานยนต์และชิ้นส่วน(ชลบุรี) 8) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคใต้ชายแดน สาขางานเชื่อม/แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง(สงขลา) 9) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคใต้ฝั่งอันดามัน สาขาดิจิตอล/ท่องเที่ยวและบริการ(ภูเก็ต) 10) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูงภาคกลางตอนกลาง สาขางานเชื่อม/ยานยนต์และชิ้นส่วน(สมุทรปราการ) 11) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคกลางตอนล่าง 1 สาขาเกษตรแปรรูป(สุพรรณบุรี) และ 12) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 1 สาขาดิจิตอล/ท่องเที่ยวและบริการ สาขาเมคาทรอนิกส์/ออโตเมชัน (เชียงใหม่) นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่า ในระยะเริ่มต้นจะเน้นใน 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก การพัฒนาบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการสร้างและพัฒนาครูฝึก พร้อมสนับสนุนบุคลากรให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน ส่วนที่สอง พัฒนาหลักสูตรระบบการฝึก เพื่อรองรับทักษะด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ รวมถึงการสนับสนุนด้านเครื่องจักร อุปกรณ์การฝึกทักษะชั้นสูง และส่วนที่สาม เน้นสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยด้วย