ราม วัชรประดิษฐ์ เป็นที่ทราบกันว่าการเรียกชื่อพระกรุเก่าแก่ที่ค้นพบในสมัยก่อน มักจะนำชื่อของจังหวัดที่ค้นพบเป็นครั้งแรกมาเป็นชื่อนำ และเมื่อพบพระลักษณะเดียวกันที่จังหวัดอื่นๆ ก็จะใช้ชื่อเรียกขานเดียวกัน แล้วจึงต่อท้ายด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพิมพ์ไป กำแพงเพชรเมืองแห่งประวัติศาสตร์และพระกรุชื่อดัง พระพิมพ์ปางลีลา ก็เช่นกัน ค้นพบครั้งแรกที่จังหวัดกำแพงเพชร จึงใช้ชื่อเรียกขานแต่โบราณว่า “พระกำแพงเขย่ง” หรือ “พระกำแพงลีลา” เนื่องจากอากัปกิริยาในการเยื้องย่างของพระประธาน ต่อมาเรียกให้สั้นเข้าก็เหลือแต่คำว่า ‘พระกำแพง’ แล้วต่อท้ายของเอกลักษณ์ของพิมพ์ เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงกลีบจำปา หรือ พระกำแพงพลูจีบ เป็นต้น ฉบับนี้มาดูพระกำแพงพิมพ์หนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกเหมือนกันแต่อยู่คนละจังหวัด นั่นคือ “พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด” ซึ่งมีการค้นพบที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.สุพรรณบุรี ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด จ.กำแพงเพชร “พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด จังหวัดกำแพงเพชร” ค้นพบในบริเวณลานทุ่งเศรษฐี กรุวัดบรมธาตุ วัดอาวาสน้อย และวัดสี่อิริยาบท เป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะอันอ่อนช้อยงดงาม ลายเส้นต่างๆ มีความประสานกลมกลืน โดยฝีมือสกุลช่างยุคสุโขทัยบริสุทธิ์ ที่เรียก “พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด” นั้น มาจากพุทธลักษณะที่พระกรด้านซ้ายยกขึ้นพาดพระอังสาคล้ายการเชยคาง และโดยรอบซุ้มเรือนแก้วขององค์พระจะมีเม็ดไข่ปลาปรากฏอยู่ เป็นพระพิมพ์แบบเทหล่อแบบครึ่งซีก สัณฐานรูปสี่เหลี่ยมยาว ด้านบนโค้งมน ยอดแหลม ส่วนด้านล่างตัดตรง พุทธลักษณะ องค์พระประธานประทับยืน แสดงปางลีลา เหนืออาสนะเส้นตรง 2 ชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว รอบซุ้มเรือนแก้วและฐาน ประดับด้วยเม็ดไข่ปลา พระเกศเป็นมุ่นเมาลี 2 ชั้น บนสุดมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม พระศกเป็นเม็ดงายาวรีโดยรอบ พระพักตร์เอียงไปด้านซ้าย กลมกลืนกับพระอิริยาบถก้าวย่างพระบาท ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ชัดเจน ลำพระศอไม่เด่นชัด แต่สร้อยพระศอปรากฏชัดเจน พระอังสากว้าง พระอุระอวบอูมล่ำสัน แต่แฝงความอ่อนช้อยงามสง่าในที ลำพระองค์วาดเว้ากลมกลืนอย่างมีทรงและทอดต่อลงมาจนถึงพระบาท เส้นพระอังสะและชายจีวรอ่อนช้อยแลดูไหวพลิ้ว พระกรข้างซ้ายขององค์พระยกพาดเหนือพระอังสา พระกรข้างขวาทอดแอ่นไปตามลำพระองค์ ส่วนด้านหลังเป็นหลังแบนเรียบปรากฏลายผ้าหยาบๆ พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด จังหวัดกำแพงเพชร เท่าที่พบเห็นมีอยู่ 2 เนื้อ คือ เนื้อชินเงินและเนื้อตะกั่วสนิมแดง แต่ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อชินเงิน พิมพ์ที่พบมี 3 พิมพ์ ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่ขนาดขององค์พระเท่านั้น คือ พิมพ์ใหญ่ ขนาดประมาณ 2.2 X 5.6 ซ.ม. พบเห็นน้อยมาก, พิมพ์กลาง ประมาณ 2 X 5 ซ.ม. พบเป็นจำนวนมากกว่าพิมพ์อื่นๆ และเช่าหาเป็นพิมพ์มาตรฐาน และพิมพ์เล็ก ประมาณ 1.7 X 4.6 ซ.ม. เนื่องจากเป็นพระพิมพ์ที่พบคนละกรุ ผิวขององค์พระในแต่ละกรุจึงแตกต่างกัน “กรุวัดบรมธาตุและกรุบริเวณทุ่งเศรษฐี” จะมีผิวสนิมตีนกาเป็นสีดำๆ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่ “กรุวัดอาวาสน้อยและวัดสี่อิริยาบถ” มักจะมีผิวปรอทหลงเหลืออยู่ ผิวมักจะออกขาวซีดๆ ที่พบเป็นชินแก่ตะกั่ว มีไขขาวและสนิมแดงก็พบบ้างแต่น้อยมาก พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด กรุวัดชุมนุมสงฆ์ จ.สุพรรณบุรี ส่วน “พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด จังหวัดสุพรรณบุรี” ค้นพบที่กรุวัดชุมนุมสงฆ์ กรุใหญ่กรุหนึ่งของจังหวัด ที่เรียกขานในชื่อ ‘พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด’ เช่นเดียวกับที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น เนื่องจากมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันตรงที่พุทธลักษณะการเชยคาง พระกรด้านซ้ายจะยกขึ้นแนบพระอุระ ยกขอบเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น คล้ายซุ้มเรือนแก้ว และมีเส้นขีดคล้ายลายกนกโดยรอบ แต่ขนาดขององค์พระค่อนข้างเขื่องกว่า คือ ประมาณ 2.5 X 8 ซ.ม. พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด กรุวัดชุมนุมสงฆ์ ค้นพบในคราวเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2504 สันนิษฐานว่าเป็นพระสมัยอยุธยาตอนต้น ในราวปี พ.ศ.1967 ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเรียวแหลม ยกขอบเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น คล้ายซุ้มเรือนแก้ว มีเส้นขีดคล้ายลายกนกโดยรอบ พุทธลักษณะ องค์พระประธานประทับยืน แสดงปางลีลา บนฐานบัว 2 ชั้น พระเกศจิ่ม แหลม และยาวจดเส้นซุ้ม เส้นไรพระศกเป็นเส้นนูนชัดเจน พระพักตร์รูปไข่ ส่วนล่างค่อนข้างแหลม ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ โดยเฉพาะพระเนตรนูนเด่นคล้ายตาตั๊กแตน พระเศียรเอนไปด้านซ้ายเล็กน้อย พระอังสาด้านขวาขององค์พระยกขึ้นเล็กน้อย และมีการแอ่นเอนของพระวรกาย แสดงความสมดุลและกลมกลืนได้อย่างสละสลวย พระกรด้านซ้ายจะยกขึ้นแนบพระอุระ การวาดลำพระกรทั้ง 2 ข้างอ่อนช้อยและเน้นเส้นลึกชัด ส่วนชายจีวรเส้นจะแผ่วบาง นับเป็นพระที่มีพุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยงดงามแสดงถึงศิลปะบริสุทธิ์อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างแท้จริง พระกำแพงเชยคางข้างเม็ด กรุวัดชุมนุมสงฆ์ เป็นพระเนื้อชินเงินซึ่งออกจะแก่เงิน ทำให้เนื้อแข็งกว่าพระพิมพ์เนื้อชินของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งแก่ตะกั่ว ดังนั้นจุดสำคัญในการพิจารณาคือ “ความเก่า” พระเนื้อชินที่บรรจุในกรุเป็นเวลาเนิ่นนานเกือบ 600 ปี ก็ต้องพิจารณาคราบกรุ สนิมไข รอยร้าวและรอยระเบิดให้ดีๆ ครับผม