ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน การพระราชทาน “ศูนย์ฝึกอาชีพ” แก่ทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บพิการทุพพลภาพ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ได้ก่อให้เกิดสายธารแห่งความหวังที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารและเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละเพื่อชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวทางการให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาลด้านร่างกายควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ทรงสนับสนุนการใช้อวัยวะแขนขาเทียมในการดำรงชีวิต และฝึกอาชีพ เพื่อให้ทหารและเจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถพึ่งตนเองและตระหนักในคุณค่าของชีวิต กว่า 45 ปี ที่ธารน้ำพระราชหฤทัยได้ไหลรินสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ราษฎรที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน อันเป็นขวัญและกำลังใจที่นำมาซึ่งความมั่นคงและสร้างความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตยไทยสืบไป. โครงการฝายจะโหนง ฯจ.สงขลา วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่สร้างความหวังให้แก่ชาวบ้านตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับโครงการฝายจะโหนงพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรจากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง ฝายทดน้ำนับเป็นหนึ่งในพระราชดำริที่ทรงนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เพาะปลูกในกรณีที่พื้นที่ทำกินอยู่สูงกว่าระดับลำห้วย โดยทรงใช้วิธีการก่อสร้างฝายปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลให้มีระดับที่สูงขึ้นจนผันเข้าไปตามคลองส่งน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมต่อไป วันนี้....สายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณได้ไหลรินหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,500 ไร่ ในตำบล จะโหนง อันนำมาซึ่งวันที่สร้างสุขให้แก่ราษฎรไทย พระราชพิธีพืชมงคล ย้อนกลับไปในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ถือเป็นวันที่มีความเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกรไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมายังพลับพลาท้องสนามหลวง และประทับทรงเป็นประธานในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ได้พระราชทานคำแนะนำให้ฟื้นฟูขึ้นเมื่อปี 2503 เป็นสองพระราชพิธีรวมกันในปลายฤดูแล้งเข้าสู่ต้นฤดูทำนา โดยพระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ ประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการนำพันธุ์ข้าวและอุปกรณ์ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้นไปเข้าพระราชพิธี ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นเป็นพิธีทางพราหมณ์ที่จัดในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง ตามประเพณีโบราณ โดยใช้พระโคที่เลือกสรรเป็นพิเศษมาเทียมแอก มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นพระยาแรกนา พร้อมด้วยเทพีแรกนา 4 คน หาบเมล็ดพันธุ์ข้าวในหาบเงินหาบทองเดินตามพระยาแรกนา เมื่อผ่านการหว่านไปแล้วในตอนท้ายของพระราชพิธีจะเป็นการเสี่ยงทายในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของเกษตรกรรมในปีนั้นๆ ตามของกิน 7 สิ่งที่พระโคเลือกกิน ซึ่งทั้งสองพระราชพิธีนั้นถือเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญสร้างกำลังใจให้เกษตรกรไทยเรื่อยมา. ป่าชายเลน วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน เนื่องจากทรงห่วงใยทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งบุกรุกทำลายในหลายพื้นที่ ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตนานาชนิด และเป็นกำแพงธรรมชาติที่ช่วยป้องกันลมและการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเล อีกทั้งเป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลของสัตว์น้ำ ปัจจุบันป่าชายเลนทั่วประเทศได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ตามแนวพระราชดำริหลายพื้นที่ โดยผสมผสานระหว่างการพัฒนาฟื้นฟูป่าชายเลนพร้อมกับบูรณาการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทัศนศึกษาและปลูกจิตสำนึกรักในผืนป่าให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์ป่าชายเลนในท้องถิ่นและก่อเกิดความรักหวงแหนในทรัพยากร ธรรมชาติ วันนี้แสงแห่งพระมหากรุณาธิคุณได้ส่องสว่างสร้างความงอกงามแก่สรรพชีวิตมากมาย อันนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ และความสุขของผืนแผ่นดินไทย. แก๊สชีวภาพ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับงานการผลิตแก๊สชีวภาพไว้ในโครงการส่วนพระองค์ หลังจากทรงทราบผลการทดลองและวิจัยการผลิตแก๊สชีวภาพจากคณะทำงานและมีพระราชวินิจฉัยว่าจะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรไทยในช่วงเวลาที่ประเทศขาดแคลนพลังงาน ซึ่งต่อมาในปี 2529 ได้มีการเปิดโรงกลั่นแอลกอฮอล์ในสวนจิตรลดา เพื่อดำเนินโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชดำริ โรงกลั่นนี้ผลิตแอลกอฮอล์ 95 % จากอ้อยและกากน้ำตาลแล้วนำมาทำแอลกอฮอล์แข็ง รวมทั้งทดลองผสมแอลกอฮอล์ 95 % กับน้ำมันเบนซินธรรมดาจนเกิดเป็นแก๊สโซฮอล์ เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังผลิตจากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมและเพิ่มราคาพืชผลให้แก่เกษตรกรไทยได้อีกทางหนึ่ง จากพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ในการทรงมองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คนไทยจึงมีทางเลือกที่ดีและมีแนวทางการประหยัดน้ำมันเพิ่มมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งวันที่ได้สร้างความมั่นคงและสร้างสุขให้แก่ราษฎรบนผืนแผ่นดินไทย. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระโจมฯ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยตลอด ทั้งที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการด้วยพระองค์เอง และจากที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือในทุกหนแห่ง พระองค์มิได้รอช้าที่จะพระราชทานความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ดังที่เมื่อวันนี้ในอดีต 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือให้สำนักงาน กปร. กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมตามที่ราษฎร อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ร้องขอจากนั้นจึงได้มีพระมหากรุณาให้การช่วยเหลือราษฎรโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกระโจม เพื่อช่วยเหลือราษฎรหมู่ที่ 3 ต.สลุย หมู่ที่ 5 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ และหมู่ที่ 6 ต.เขาไชยราช อ.ปะทิว จ. ชุมพร ที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในฤดูแล้ง ซึ่งในวันนี้อ่างเก็บน้ำคลองกระโจมอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้.....กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยสร้างชีวิต และสร้างสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม แก๊สโซฮอล์ วันที่ 16 พฤษภาคม เมื่อพ.ศ. 2539 ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์แก่รถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นับเป็นสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์แห่งแรกของประเทศไทย...... ย้อนกลับไปเมื่อปี 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสรับสั่งให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาทดลองกลั่นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากอ้อย เพื่อนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์ทดแทนน้ำมันเบนซิน เนื่องจากทรงคาดการณ์ว่าอาจเกิดปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน และมีราคาแพงในอนาคต ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล วันนี้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้พัฒนากลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือกของผู้ใช้รถยนต์บนท้องถนน และเป็นพลังแห่งอนาคตที่ช่วยลดการนำเข้าจากต่าง ประเทศ รวมทั้งยังส่งเสริมผลผลิตการเกษตรสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย นับเป็นพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ที่ได้ช่วยสร้างทางเลือกและเพิ่มสุขให้ประชาชนชาวไทย อ่างเก็บน้ำยางชุมฯ วันที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำยางชุม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทรงติดตามความคืบหน้าโครงการชลประทานยางชุม ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2516 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันอุทกภัยในฤดูฝน โครงการชลประทานยางชุม ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2523 ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2546 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพรราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงขยายพื้นที่เก็บกักน้ำจาก 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41 ล้าน 1 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึงและยังเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2548 อันนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความสุขให้กับราษฎรชาวกุยบุรี นับจากนั้น.