พระมหากษัตริย์นักพัฒนา สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)ได้ทูลเกล้าถวายรางวัล“ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Lifetime Achievement Award) “เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นรางวัลชิ้นแรก ที่จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบหกสิบปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระ ราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของปวงชนชาวไทยอยู่เป็นนิจศีล จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก จึงต่างกล่าวขานพระนามพระองค์ว่าทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” ทั้งนี้เพราะเป็นพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรผู้ยากไร้และ ผู้ด้อยโอกาส โดยไม่ทรงแบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า ทรงสดับรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของราษฏร พระราชทานแนวทางการดำรงชีวิตเพื่อให้ประชาชนของพระองค์สามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชนบทที่จำนวนมากมายมิอาจนับได้ ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ยังประโยชน์ให้แก่พสกนิกรทั่วหล้า อาทิโครงการที่มุ่งเน้นการเกษตรขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตามแนวทางทฤษฎีใหม่โครงการที่มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนโครงการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมด้วยการสร้างเขื่อน ฝ่ายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำฯลฯ  ด้านอนุรักษ์พัฒนาดิน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิ การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ โดยทรง คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้ได้ใช้ประโยชน์ ดังเช่น โครงการแกล้งดิน ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา ในเรื่องดินทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพและการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับการเกษตร ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินและสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ดังพระราชดำรัสความว่า “...การปรับปรุงที่ดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน...” ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเพื่อทำการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินดาน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรและอาศัยน้ำฝน จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้โดยที่มีการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารและพัฒนาป่าไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายความชุ่มชื้นจะเกิดขึ้นและจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในที่สุด โดยพระราชทานพระราชดำริให้มีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ความว่า “...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...” ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่มนุษยชาติ ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศให้อยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธาร พรรณพฤกษชาติและสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอย ประกอบอาชีพด้านการทำป่าไม้ เก็บของป่า การอุตสาหกรรม การผลิตไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้และของป่า แต่ปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและเผาถ่าน อีกทั้งมีการก่อสร้างถนน สร้างเขื่อนทำให้มีการตัดไม้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันช่วยถนอมน้ำไว้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย สำหรับวิธีการปลูกป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลายวิธี ดังเช่น การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ที่ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งมี 3 วิธีคือ “...ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว...ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น...” “...ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม้ไม่สวย แต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้...” ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ “...เดี๋ยวนี้ทุกคนก็คงเข้าใจแล้วว่าป่า 3 อย่างนั้นคืออะไร แต่ก็ให้เข้าใจว่าป่า 3 อย่างนี้มีประโยชน์ 4 อย่าง ประโยชน์ที่ 4 นี้สำคัญคือ รักษาอนุรักษ์ดินเป็นต้นน้ำลำธาร...” การปลูกป่า 3 อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอยป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิงซึ่งราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างเกื้อกูล นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์อย่างที่ 4 อันเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย ป่าชายเลน เป็นแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทยซึ่งถูกบุกรุกทำลาย ด้วยการปลูกป่าไม้ชายเลน โดยอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโต อันเป็นแนวป้องกันลมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำซึ่งเป็นการช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเน้นย้ำและทรงทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาให้หมดไปคือการพัฒนาด้านการสาธารสุข ด้านการศึกษาอันล้วนเป็นรากฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืนบนรากฐานการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งสิ้น น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์