สภาสังคมสงเคราะห์ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลขาธิการ และคณะกรรมการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานแนวปฎิบัติงานในด้านการสังคมสงเคราะห์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและประสานงานการสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน การแก้ไขปัญหาสังคม และการพัฒนาสังคม โดยสภาสังคมสงเคราะห์ มีองค์การสมาชิกอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เหนืออื่นใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชหัวทรงรับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2504 อันเป็นต้นกำเนิดของสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้ช่วยบรรเทาทุกข์ของราษฎรที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน และสร้างสุขให้แก่ผืนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนาน. โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชน ทรงถือว่าการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ทรงรับโรงเรียนต่างๆ มากมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลายโรงเรียนได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ ดั่งเช่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2513 นายสุขุมและนางจันทร์ฟอง ถิระวัฒน์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายโฉนดที่ดินจำนวน 30 ไร่ ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการแด่พระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่กระทรวง ศึกษาธิการให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญ พร้อมพระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว” อันหมายถึงโรงเรียนที่สั่งสอนอบรมกุลบุตรกุลธิดาให้เป็นคนดีโดยพระราชา เหนืออื่นใดเมื่อ พ.ศ.2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารร่มเกล้า ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกและทรงปลูกต้นประดู่แดง อันกลายเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนับจากนั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณในวันนั้น ยังคงสร้างความสุขและเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่สถานศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์แห่งนี้เสมอมา นิคมสร้างตนเองที่ประจวบคีรีขันธ์ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 เป็นวันวานที่สร้างสุขให้กับชาวนิคมสร้างตนเอง จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างไม่รู้คลาย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จัดตั้งขึ้นในปีพศ. 2499 ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอทับสะแก บางส่วนซึ่งต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 28 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมาย ในวันที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ไปประทับยังที่ศาลาที่ทำการนิคมนั้น ทรงซักถามถึงกิจการของนิคม ตลอดจนความเป็นอยู่ของสมาชิกด้วยความห่วงใย และเมื่อผู้แทนสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ทูลเกล้าฯ ถวายสับปะรดกวนหนึ่งร้อยกิโลกรัม รวมทั้งผลผลิตอื่นๆ จากไร่ของสมาชิก พระองค์ทรงรับไว้พร้อมกับได้พระราชทานให้แก่ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามชายแดนของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งปันแด่พี่น้องไทย โดยมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำพาและสร้างสายสัมพันธ์แบ่งปันความสุขนั้นไปสู่ประชาชนด้วยพระองค์เอง. ชลประทานแก่งกระจาน ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนดินที่สร้างขึ้นกั้นลำน้ำเพชรบุรี โดยสามารถเก็บกักน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร และภายในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีเกาะกลางน้ำถึง 30 เกาะ และแต่ละเกาะก็มีความงดงามที่แตกต่างกันออกไป และหนึ่งในจำนวนนี้ก็เป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้เสด็จฯมาประทับอยู่หลายครั้งด้วยกัน จากวันนั้นจนถึงวันนี้..........เป็นเวลา เกือบ50 ปีแล้วที่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว4^,br]vf6]pgf=ในครั้งนั้น ได้ทำให้เขื่อนแก่งกระจานทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สร้างประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ และได้ไหลรินกระจายสุขให้แก่พี่น้องชาวเพชรบุรี อีกทั้งได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม สร้างความสุขให้แก่ผู้มาเยือนเขื่อนแห่งนี้เสมอมา..... อ่างเก็บน้ำเขาเต่า วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 60,000 บาทแก่กรมชลประทาน เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกักเก็บน้ำฝน และปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม อันเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรในหมู่บ้านเขาเต่า ได้กลายเป็นต้นธารของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกมากมายกว่า 2,000 โครงการในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยทรงตระหนักว่า น้ำ คือหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต การแก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในชนบทเป็นพระราชภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกร เพื่อให้มียน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม อันจะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ราษฎรมีสุขเป็นที่ประจักษ์แล้วในวันนี้ พระพุทธนวราชบพิตร การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2516 สะท้อนถึงพระราชหฤทัยที่ทรงให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการสร้างศูนย์รวมจิตใจให้แก่ราษฎรในแต่ละพื้นที่ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นจากผงศักดิ์สิทธิ์ที่ได้มาจากปูชนียวัตถุของแต่ละจังหวัด และมีพระราชดำริให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่พุทธศักราช 2509 ปัจจุบัน....พระพุทธนวราชบพิตร ยังคงทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และกระตุ้นเตือนให้คนไทยรำลึกถึงการประกอบความดี การสมานสามัคคีและมีน้ำใจ ต่อกัน อันจะเป็นหนทางสำคัญที่นำมาสู่ความสงบสุขของสังคม และความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ