หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทวีปยุโรป ต้องเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่อง “ผู้อพยพ” ที่เป็นต้นเหตุหลักประการหนึ่งของการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู ของคนอังกฤษ เพราะประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลของตนต้องมาแบกรับภาระการเลี้ยงดูผู้อพยพ ขณะเดียวกันก็คิดว่าคนเหล่านี้ไม่เพียงเข้ามาอาศัย แต่ได้รับสวัสดิการ โดยที่ไม่เสียภาษี หรือเสียภาษีแตกต่างจากพลเมืองในประเทศ และที่สำคัญคือ พวกคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ยังแย่งงานไปทำอีก แต่ในที่นี้เราจะไม่มาว่ากันถึงสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นจริงหรือไม่ แค่ไหน เพียงแต่ยกมาแสดงให้เห็นว่า ประเด็นผู้อพยพนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสังคมในหลายประเทศในยุโรป กลุ่มควันไฟลอยยขึ้นจากอาคารของรัฐบาลหลังหนึ่ง ในเมืองอเลปโป ประเทศซีเรีย พื้นที่ ที่ถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก การอพยพจากที่หนึ่งมาสู่อีกที่หนึ่ง เหตุผลหลักก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ชีวิตที่ดีกว่า เราคงทราบจากข่าวที่ออกมาโดยตลอดแล้ว ว่าผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ยุโรปนั้น ส่วนที่เป็นผู้อพยพหนีภัยสงครามพวกเขาต้องเดินทางอย่างยากลำบาก ข้ามน้ำข้ามทะเล เสี่ยงอันตรายมาเอาชีวิตรอดเอาดาบหน้า ต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน แยกจากครอบครัว หลายคนโชคร้ายเสียชีวิตระหว่างเดินทาง บ้างที่มาถึงก็ต้องมาตั้งหลักใหม่ มีเรื่องมากมายต้องคิดต้องทำ ต้องปรับตัว ไหนจะเรื่องเอกสารกฎหมายที่ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อให้ได้รับสถานะผู้อพยพจากรัฐต่างๆ และยังเรื่องการเอาชีวิตรอด การปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ ภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ปลายทางของผู้อพยพเหล่านี้ การขึ้นฝั่งยังประเทศใหม่ได้ไม่ใช่เส้นชัย หากแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอีกครั้งของชีวิต ที่ยังต้องต่อสู้อย่างอดทน ก้าวไปบนหนทางอีกยาวไกล เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่าอย่างที่หวัง และนี่เป็นตัวอย่างเรื่องราวของคนเหล่านี้ “ซามี ฟาราห์” วัย 23 ปี นักดนตรีบำบัด ที่ตัดสินใจหลบหนีเอาชีวิตรอดจากประเทศที่กำลังถูกไฟสงครามโหมกระหน่ำอย่างซีเรียเข้ามายังยุโรป และตอนนี้เขาได้เริ่มต้นชีวิตในที่ที่เรียกว่าบ้านหลังใหม่ ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซามี เป็นหนึ่งในผู้อพยพเกือบ 9 แสนคนที่ไม่ใช่ผู้อพยพจากชาติในอียู ที่เดินทางเข้ามาถึงเยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว และด้วยความช่วยเหลือจาก Jobs4refugees ทำให้ปัจจุบันเขาได้งานใหม่เป็นพนักงานล้างจานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ากนักดนตรีบำบัด ในกรุงดามัสคัส เมืองหลวงของซีเรีย กลายเป็นพนักงานล้างจาน ใน กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี “ไม่เคยมีโรงเรียนที่ไหนสอนการเริ่มต้นชีวิตใหม่จากศูนย์ คุณไม่เคยเรียนรู้วิธีการทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังทั้งครอบครัว งาน เพื่อน สังคม และบ้าน ไหนจะการที่ต้องไปไหนมาไหนในสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีใครรู้จัก และไม่รู้จักใคร” ซามีเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญของชีวิตตนเองว่า เขามาถึงที่นี่ เขาพูดเยอรมันได้ และตอนนี้มีครอบครัวที่สนับสนุน เขาแชร์แฟลตอาศัยอยู่กับชาวเยอรมัน 2 คน และมีเพื่อนสนิทใหม่แล้ว 2 คน อีกทั้งในที่สุดก็ได้งานในครัวที่โรงแรม หลังจากต้องรอใบอนุญาตทำงานอยู่ถึง 5 เดือน “ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับอยู่ที่ 8.5 ยูโร ต่อชั่วโมง (ประมาณ 7.7 ปอนด์ หรือ 9.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเพียงพ่อสำหรับการใช้ชีวิต จ่ายบิล และจ่ายภาษีตามกฎหมาย เพื่อนร่วมงานก็ดีมาก และหัวหน้าเองก็ช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีเรื่องเศร้าหลายๆ อย่าง เช่นไม่มีโอกาสได้ไปงานแต่งงานพี่ชาย หรือน้องสาว” ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมนียังไม่ให้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการกับซามี แต่ให้สถานะผู้ได้รับความคุ้มครอง และให้สิทธิการอาศัยอยู่ได้หนึ่งปีแทน “บางวันก็ต้องต่อแถวอยู่หน้าสำนักงานฝ่ายสังคมและสุขภาพเป็นเวลาถึง 10 ชั่วโมง เพื่อติดต่อเรื่องเอกสารกฎหมายต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากพนักงานสำนักงาน และพนักงานรักษาความปลอดภัยที่นั่น ในสัปดาห์ที่อากาศหนาวมากๆ ต้องยื่นอยู่ข้างนอก รอคิวที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด” ผู้อพยพเข้าแถวรอภายใต้อากาศหนาวเย็นเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อเอกสารที่จำเป็น สำหรับการขอสถานะผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ซามีก็พยายามที่จะมองโลกในแง่ดี และคิดบวกว่าอย่างน้อยเขาก็ได้เจอกับคนใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้ยินเรื่องราวที่แตกต่างไป ที่บางครั้งทำให้ร้องไห้อยู่ในใจ แล้วก็ทำให้ยิ้มได้เช่นกัน “ผมคิดว่าตัวเองโชคดีตั้งแต่มาถึงที่นี่ ผมเจอผู้คนที่ยอดเยี่ยมมากมาย ผู้คนที่ผมได้เรียนรู้จากพวกเขา และยังได้แบ่งปันประสบการณ์ มีเวลาที่ดีร่วมกัน” “ถามว่าผมกังวลหรือไม่ แน่นอน ผมกังวลกับการเลือกปฏิบัติ กระแสต่อต้านผู้อพยพ และกลุ่มสุดโต่ง ว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบกับผมในการใช้ชีวิตในประเทศนี้ หรือในที่อื่นๆ ผมยังห่วงความปลอดภัยของครอบครัวในซีเรีย จะมาเยอรมนีก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร หากแต่ครอบครัวเราไม่ได้มีฐานะ แล้วถ้าพูดถึงประเทศอื่นอย่างจอร์แดน ที่นั่นก็ไม่ได้มีงานที่มั่นคงสำหรับชาวซีเรียมากนัก” ตัวอย่างของซามีอาจจะเป็นผู้ที่โชคดีที่เขายังมีชีวิตรอด แต่ชีวิตใหม่ในประเทศใหม่ของเขาเพิ่งจะเริ่มต้น และยังมีหนทางที่ต้องเดินอีกยาวไกล แต่ผู้ลี้ภัยอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ไม่โชคดีเช่นนี้ ยังไม่นับรวมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ และความไม่สงบ ซึ่งอีกไม่นานก็คงไม่แคล้วต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย จนกว่าไฟสงครามจะสงบลง เราคงได้แต่ภาวนาให้ความขัดแย้งสิ้นสุดลงเสียที “จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ผลักดันให้ผมก้าวต่อไป เพราะเชื่อมันในอนาคตที่ดีกว่า การได้มีชีวิตที่ปกติสุขอีกครั้ง ก็เหมือนกับทุกคน ได้เรียนหนังสือ ได้ประกอบอาชีพ และอยู่กับครอบครัวของตัวเองในสักวัน ผมต้องการสิ่งเหล่านั้นเหมือนทุกคน...ชีวิต” ซามีคิดว่าเขาโชคดีกว่าหลายๆ คน แต่ก็ยังอดคิดถึงบ้านไม่ได้