เมื่อเทียบปี 54 อยู่ที่ 94 ขยับขึ้นเป็น 98.2 ขณะส่วนใหญ่ไอคิวปกติ 68 มี 42 จังหวัด+กทม.เกิน 100 ขึ้น แต่ 35 จังหวัดยังต่ำกว่ามาตรฐาน และยังพบเด็กสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ถึงกว่า 70% โดยเฉพาะภาคอีสาน ชี้ที่ไอคิวขยับนับเป็นความสำเร็จของสธ.ส่งเสริมพัฒนาการ-ป้องกันขาดสารอาหาร พร้อมระบุปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่กระทบกับไอคิวเด็ก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 59 กรมสุขภาพจิต ได้สำรวจสถานการณ์ไอคิวและอีคิว เด็กนักเรียนชั้นป.1 ทั่วประเทศ 23,641 คน พบว่าเด็กมีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 54 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 94 เด็กไทยมีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 68 ขณะที่เด็กจาก 42 จังหวัดรวมทั้งกทม. มีไอคิวสูงเกิน 100 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กบางส่วนใน 35 จังหวัด ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังพบเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่องหรือต่ำกว่า 70 ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่นๆ ตลอดจนพบว่า เด็กนอกเขตอำเภอเมือง มีระดับไอคิวเฉลี่ย 96.9 ขณะที่เด็กในเขตอำเภอเมืองมีไอคิว 101.5 และเด็กในพื้นที่ กทม. มีไอคิวเฉลี่ย 103.4 ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย ร้อยละ 77 แต่ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการการพัฒนา ปัญหาอีคิวที่พบมากที่สุดคือด้านขาดความมุ่งมั่นพยายาม และขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา จากการศึกษาดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของก.สาธารณสุขในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การควบคุมป้องกันการขาดสารอาหารในเด็ก ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก ตลอดจนการยกระดับพัฒนาศักยภาพบุคลากรศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผล กระทบต่อการพัฒนาไอคิว – อีคิว คือ การอยู่ในพื้นที่ชนบท มีรายได้ไม่เพียงพอในครอบครัว ตลอดจนสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง โดยปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูหรือในบางครอบครัวปล่อยปละละเลยเด็ก โดยเด็กที่มีระดับไอคิวต่ำมากๆ มีแนวโน้มจะมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวต่ำร่วมด้วย ซึ่งนโยบายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นับเป็นอีก 1 นโยบายสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาส เอื้อต่อการพัฒนาไอคิว อีคิว ให้กับเด็กไทยได้