มูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) ประกาศเปิดตัว “Global Innovation Challenge” โครงการสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั่วโลกในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันต่าง ๆ ที่มุ่งแก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก โดยการดำเนินงานครั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ ตั้งเป้าให้เงินสนับสนุนรวม 25 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ 50 องค์กร ในการจัดทำหรือต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาความมั่นคงทางอาหาร พร้อมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ครอบครัว และชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วโลก
ทั้งนี้ ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ถือเป็นวิกฤติร้ายแรงที่กำลังคุกคามสังคมโลก ปัจจุบันมีประชากรกว่า 770 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร จากผลการศึกษาล่าสุดจาก Citi Global Perspectives & Solutions (GPS) ชี้ว่า ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้สูงถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนเงินราว 500 เหรียญสหรัฐต่อประชากร 1 คน โดยวิกฤติดังกล่าวมีที่มาจากต้นทุนราคาอาหารที่สูงเป็นประวัติการณ์ ไปจนถึงปัจจัยจากเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความไม่สงบในสังคม ปัญหาประชากรพลัดถิ่น รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย
แบรนดี แมคเฮล ประธานมูลนิธิซิตี้และหัวหน้าฝ่ายการพัฒนาและการลงทุนในชุมชน กล่าวว่า “ปัจจุบันมีครอบครัวจำนวนมากทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาความอดอยาก ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นที่ว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปหาอาหารมื้อต่อไปจากไหนและเมื่อไหร่ ซึ่งมูลนิธิซิตี้ตระหนักและเข้าใจถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อวิกฤติดังกล่าวเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ ได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรหลากหลายแห่งทั่วโลก ที่ขับเคลื่อนพันธกิจในการบุกเบิกหรือคิดค้นโซลูชันในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเพื่อนำแนวทางการแก้ปัญหานี้ไปต่อยอดในชุมชนต่าง ๆ ในอนาคต”
ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้จะพิจารณามอบทุนสนับสนุนให้กับโครงการที่มีคุณสมบัติทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่
·ความสามารถในการเข้าถึง (Access) สนับสนุนโครงการที่สามารถช่วยให้ชุมชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารในราคาที่สามารจ่ายได้และมีคุณค่าทางโภชนาการ
·ราคาจับต้องได้ (Affordability) พัฒนาการเข้าถึงอาหารผ่านแนวทางการจัดการการเงินภายในชุมชน เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย
·ความพร้อมใช้งาน (Availability) จัดการกับความท้าทายในห่วงโซ่อุปทานอาหาร นำไปสู่ผลประโยชน์เชิงบวกของชุมชน เช่น การสร้างงานและธุรกิจใหม่
·ความยืดหยุ่น (Resilience) เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้ชุมชนที่มีรายได้น้อยสามารถเตรียมรับมือและตอบสนองกับสภาวะหยุดชะงักของความมั่นคงทางอาหารระหว่างช่วงวิกฤติ
ด้าน ลิซา เฮนชอว์ ประธานโครงการ Global Citizen ได้กล่าวว่า “วิกฤติความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในวิกฤติระดับโลกซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการเป็นพันธมิตรกับซิตี้แบงก์มากว่า 10 ปี เราเห็นมาตลอดว่ามูลนิธิซิตี้ได้ช่วยยกระดับชุมชนด้อยโอกาสให้หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน ซึ่งแนวคิดการให้ทุนในระดับโลกของซิตี้ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนเงินทุนที่จำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กรที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนอาหารด้วยโซลูชันนวัตกรรมที่เราต้องการอย่างยิ่ง”
สำหรับโครงการ Global Innovation Challenge ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของมูลนิธิซิตี้ได้ถูกดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารอื่น ๆ อาทิ
·พ.ศ. 2557 - สนับสนุนโครงการ No Kid Hungry ในการจัดหาอาหาร 300 ล้านมื้อสำหรับเด็กและเยาวชนที่อดอยาก
·พ.ศ. 2560 - อาสาสมัครจากซิตี้แบงก์ได้ร่วมจัดส่งอาหารกว่า 1.7 ล้านมื้อ ในนามของโครงการ U.S. Hunger
·พ.ศ. 2563 - สนับสนุนภารกิจ Global FoodBanking Network ในการบรรเทาทุกข์จากการระบาดของโรค COVID-19 ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้
·พ.ศ. 2563 - ร่วมมือกับโครงการ Think City ในการจัดหาอาหารและเวชภัณฑ์แก่กลุ่มเปราะบางในประเทศมาเลเซีย
ล่าสุด มูลนิธิซิตี้ ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิ Crown Agents International Development ในการจัดหาและส่งมอบอาหารทางการแพทย์แก่เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดในประเทศยูเครน
สำหรับผู้ที่สนใจในการขอทุนนี้สามารถลงชื่อและส่งแผนร่วมในโครงการ Global Innovation Challenge โดยสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงคุณสมบัติในการเข้าร่วม และพื้นที่เป้าหมายโครงการได้ทางเว็บไซต์ www.citifoundation.com/challenge