ประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาเมืองไทย ต้องบันทึกไว้วันที่ 16 ธันวาคม ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของวงการกีฬาชาติไทย ย้อนไปเมื่อ 45 ปีก่อน ปี พ.ศ. 2510 ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 หรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2510 ที่กรุงเทพมหานคร ที่ต้องบันทึกไว้ในความทรงจำก็เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ หรือ “ในหลวง”ของปวงชนชาวไทยได้ทรงเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้นด้วย โดยพระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบประเภทโอเค ทรงมีพระปรีชาสามารถทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันจาก ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยมี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ พระปรีชาสามารถที่พระองค์ทรงเรือใบเข้ามาเหนือนักกีฬาคนอื่น เป็นภาพที่คนไทยต่างปลื้มปีติภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงประทับยืนบนแท่นรับเหรียญรางวัลร่วมกับนักกีฬาที่ชนะอันดับที่ 2 และที่ 3 ในพีธีปิดการแข่งขันที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 กลายเป็นวันสำคัญที่คนกีฬาไทยต้องร่วมรำลึก กับวันประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2529 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีเป็น ''วันกีฬาแห่งชาติ'' เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ร่วมกันเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกกท.ยึดเป็นวันจัดงานประกาศเกียรติคุณให้กับนักกีฬาทีมชาติไทยที่สร้างชื่อเสียงให้กับปรพเทศชาติจากการแข่งขันมหกรรมกีฬาและการแข่งขันระดับนานาชาติรายการต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนน้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลอง “วันกีฬาแห่งชาติ”ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา การจัดงานประกาศมอบรางวัลนักกีฬาดีเด่นในงาน “วันกีฬาแห่งชาติ”จัดเป็นงานยิ่งใหญ่สุดยอดอีกวันหนึ่งของวงการกีฬาไทย นอกจากนี้ “วันกีฬาแห่งชาติ”แล้วยังมีวันสำคัญอีกวันที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นก็คืองาน “วันนักกีฬายอดเยี่ยม” งาน “วันนักกีฬายอดเยี่ยม”ถือว่าเป็นงานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาทีมชาติไทยงานแรกของวงการกีฬาเมืองไทยที่ริเริ่มจัดขึ้นภายใต้การดำเนินการของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย โดยจัดติดต่อกันมากว่ากึ่งศตวรรษแล้ว งานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ ยังทรงมีพระมหกรุณาธิคุณพระราชทานถ้ายรางวัลให้กับสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย มอบให้กับนักกีฬาที่สร้างเกียรติยศให้ประเทศชาติในงาน “วันนักกีฬายอดเยี่ยม”อีกด้วย โดยพระราชทานถ้วย 3 รางวัล คือ รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมชาย รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นนักกีฬายอดเยี่มหญิง และ รางวัลนักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม นับเป็นถ้วยรางวัลสูงสุดที่ทรงพระราชทานให้กับนักกีฬายอดเยี่ยมมากว่ากึ่งศตวรรษ และเป็นที่ปลื้มปิติของนักกีฬาที่ได้รับรางวัลนี้ไปครองอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะเป็นถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งของวงการกีฬาไทย ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างนักกีฬาที่ดี และ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อวงการกีฬาชาติ บรรดานักกีฬาทีมชาติที่ไปแข่งขันรายการต่างๆจะยึดมั่นในพระบารมีพระองค์ท่านตลอดเวลา จะสังเกตุได้จากช่วงเวลานักกีฬา ที่ประสบชัยชนะในการแข่งขัน เราจะเห็น การอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในพระบรมโกศ ชูในสนาม อย่างโดดเด่นเป็นสง่า เป็นการแสดงออกถึงความจงรกภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศ เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก โดยเฉาะอย่างยิ่งกับชัยชนะรายการยิ่งใหญ่ระดับโลก ฮีโร่นักกีฬาไทยทุกคนต่างอยากนำเหรียญขึ้นทูลเกล้าถวายพระองค์ท่าน ในฐานะนักกีฬาของพระราชาที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นักกีฬาทีมชาติไทยทุกคนต่างยึดมั่นในพระบารมีของพระองค์ รวมทั้งจดจำใส่เกล้าฯในพระบรมราโชวาทที่ทรงตรัสไว้ เพื่อเป็นความเป็นศิริมงคล นำไปสู่ชัยชนะบนเวทีกีฬาโลกสร้างเกียรติภิมให้ชาติสืบไปมิรู้ลืม