8 สมาคมประมงไทยร่วมมือภาครัฐใช้มาตรฐานสากลพัฒนาพื้นที่ประมงเขตอ่าวไทยเพื่อความยั่งยืนสูงสุด 12 ต.ค.59 คณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย(Thai Sustainable Fisheries Roundtable) หรือ TSFR ได้นำร่องมาตรฐานสากลที่ได้รับความยอมรับระดับโลก มาใช้ในโครงการพัฒนาประมงพื้นที่ทะเลอ่าวไทยเพื่อความยั่งยืนสูงสุด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการทำประมงของไทยด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า โครงการนำร่องดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประมง โดยเฉพาะสมาชิก 8 สมาคม ผู้ร่วมก่อตั้ง TSFR ประกอบด้วย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อประกาศเจตนารมย์ในการสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Fishery Improvement Plan) หรือ FIP ในเขตพื้นที่อ่าวไทย หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาการประมงในเขตทะเลฝั่งอันดามันโดยความร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund) หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557 สำหรับเป้าหมายหลัก 4 ประการ ในการดำเนินโครงการตามภายใต้ FIP คือ 1. สินค้าในห่วงโซ่อุปทานต้องจับมาจากการประมงที่มีความรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบกลับได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน 2.ห่วงโซ่อุปทานมีความโปร่งใสและ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ซื้อ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.การบริหารจัดการการประมงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) และการจับสัตว์น้ำที่มากกว่าปริมาณการผลิตเพื่อปกป้องระบบนิเวศน์ทางทะเลและในขณะเดียวกันสามารถให้ประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน 4.การจัดทำระบบการติดตามที่ได้รับความยอมรับและสามารถตรวจตราได้อย่างเหมาะสม รวมถึงระบบการสืบค้นย้อนกลับ เพื่อลดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และเฝ้าระวัง และเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ที่เคารพกฎหมาย “การดำเนินโครงการ FIP ในเขตอ่าวไทย เป็นหลักฐานแสดงความตั้งใจจริงในความพยายามของภาครัฐและกลุ่มผู้ทำการประมงเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมประมง โดยคำนึงถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการทำประมงเกินขนาดทำให้มีผลต่อการลดลงของสัตว์น้ำในปัจจุบัน” นายพรศิลป์ กล่าว นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นครั้งแรกในโลกที่ได้มีการนำมาตรฐาน IFFO Responsible Supply Standard Version ล่าสุดเข้ามาใช้ ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสากลที่ถูกออกแบบมาบนพื้นฐานการประมงอย่างรับผิดชอบตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และที่สำคัญเป็นมาตรฐานที่มีความเหมาะสมมากที่สุดกับการจัดการทรัพยากรประมงทะเลในประเทศไทยที่มีผลการจับสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิด (Multi-Species) เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลเกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนาการประมงของประเทศเพื่อความยั่งยืนสูงสุด นอกจาก TSFR ได้มีการนำมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเข้ามาใช้แล้ว โครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Fishery Improvement Plan) หรือ FIP ในเขตพื้นที่อ่าวไทย ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร คือ Sustainable Fishery Partnership (SFP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญในการทำการประมงอย่างยั่งยืนรวมไปถึงมีความสามารถในการสื่อสารข้อมูลของโครงการสู่ผู้ซื้อทั่วโลกมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ (Project advisor) ผู้แทน SFP กล่าวว่า “SFP มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเปิดตัวโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (FIP) ในเขตพื้นที่อ่าวไทย และขอยกย่องนับถือการทำงานหนักของผู้เกี่ยวข้องในโครงการฯ ซึ่ง SFP ในฐานะที่ปรึกษาโครงการจะช่วยสนับสนุนผ่านการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน การให้คำแนะนำ การฝึกอบรม และการประกันคุณภาพ ในการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ นอกจากนี้ SFP จะสนับสนุนการสื่อสารข้อมูลของโครงการฯออกไปยังผู้ซื้อและผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลก การเปิดตัวโครงการฯนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการบริหารจัดการประมงอย่างรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความต้องการจากห่วงโซ่อุปทานผู้ซื้อในต่างประเทศได้เป็นอย่างดี” นอกจากนี้ TSFR ได้เชิญ มร.ดันแคน ลีดเบ็ทเทอร์ ผู้อำนวยการบริษัท ฟิช แมทเทอร์ จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในการบริหารจัดการการประมงในเขตพื้นที่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก มาเป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ในการช่วยกำกับและชี้แนะแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้โครงการเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้.