นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย ความคืบหน้ากรณีคนไทย 27 ราย ขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกหลอกลวงจากโรงเรียนสอนภาษา ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย อ้างว่าสามารถพาไปทำงานประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ “วีซ่าทักษะเฉพาะทาง”Specified skilled Worker จนแรงงานไทยหลงเชื่อสูญเงินค่าบริการจัดหางานไปแล้วรายละ 20,000 – 70,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท สุดท้ายถูกเลื่อนกำหนดเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นพิรุธ ขอเงินคืนกลับถูกนายหน้าบ่ายเบี่ยง ทำให้บางรายเสียทั้งเงินและงาน เนื่องจากแจ้งลาออกจากงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมเดินทางไปทำงานที่ใหม่ในประเทศญี่ปุ่น จึงได้รับความเดือดร้อนและมาขอความช่วยเหลือเพื่อติดตามเงินคืน และดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนดังกล่าว ล่าสุดกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พบว่า สาย-นายหน้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาตฯ 

“ผมรู้สึกห่วงใยคนหางานที่ตั้งใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ หาโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวแต่กลับถูกหลอกลวงจากสาย-นายหน้าเถื่อนอย่างมาก ผมขอเตือนไปถึงผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจัดหางาน ขอให้ทราบว่าท่านไม่สามารถโฆษณาจัดหางานหรือจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้ หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยกระทรวงแรงงานจะติดตามดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ในส่วนผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศและต้องการใช้บริการบริษัทจัดหางาน ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทฯกับกรมการจัดหางานก่อน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจัดหางานให้คนไปทำงานในต่างประเทศ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้เลือกใช้บริการถึง 132 แห่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

  

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 กรมการจัดหางาน ได้นัดหมายคนหางานซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ราย เข้ามาร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ โดยหลังรับคำร้องทุกข์ สอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้เสียหายแล้ว กรมฯจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ที่ได้กระทำการฝ่าฝืนพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 66 ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


“สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือ doe.go.th/overseas เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd กรณีประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว