การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ระดับประเทศ สืบสานแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดกิจกรรมแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” รอบตัดสินระดับประเทศ (Final)

วันนี้ ( 28 ตุลาคม 2565) เวลา 11.00 น. ดร.วันดี  กุญชรยาคง จุลเจริญ  นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คุณรติรส จุลชาต และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้แทนคณะกรรมการประกวดผ้าฯ ร่วมแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” รอบตัดสินระดับประเทศ (Final) โดยมีนายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เข้าร่วมด้วย 
      
 ดร.วันดี  กุญชรยาคง จุลเจริญ  นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสนองงานแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน พระองค์ยังทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริมากมาย ที่ยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทยมากว่า ๖๐ ปี ตามแนวทางในพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุข ที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาสที่ขับเคลื่อนโดย กระทรวงมหาดไทย
  พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ ด้วยพระองค์ทรงพระราชทานแนวทาง  พระดำริและพระวินิจฉัย ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหาย ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับช่างทอผ้าและครอบครัวอย่างยั่งยืน
   การจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาคในปีนี้ภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี ทุกภูมิภาคมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนร่วมกันนำแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับตนเองและครอบครัว "ผ้าไทย"จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ต้องพัฒนาจากคนทอผ้าก่อน พระองค์จึงเสด็จลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทรงให้คำแนะนำชี้แนะ ให้แก่กลุ่มทอผ้า รวมถึงการเก็บรวบรวมสูตรการทอผ้า การย้อมสีผ้าของแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการการย้อมสีผ้านั้น ควรใช้สีธรรมชาติ ในการย้อม เลิกใช้สีเคมี เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในสีเคมีไม่สามารถสลายตามธรรมชาติได้ ส่งผลทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสีย รวมถึงในกระบวนการย้อมก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ย้อมเองด้วย จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของท้องถิ่นเอาไว้บนลายผ้า ซึ่งลายผ้าของในแต่ละพื้นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ (Story telling) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต "ผ้าไทย" จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นเครื่องหมายของความเป็นชาติ ไม่น้อยไปกว่าภาษา รวมถึงสามารถแสดงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ซึ่งหากทุกคนไม่ช่วยกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงมุ่งมั่น "สืบสาน รักษา และต่อยอด" ภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมผ้าไทย และส่งเสริมให้คนไทยหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทย และร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย


อยากให้พี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้าและกลุ่มหัตถกรรมต่าง ๆ ยึดถือในเรื่องการพึ่งพาตนเอง ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ และให้พัฒนาฝีมือคนในหมู่บ้านชุมชน เป็นหลักการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอยากให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ การพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมให้ดีขึ้น รวมถึงให้ใช้ช่องทางการตลาดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้จะยั่งยืนได้ ในแต่ละพื้นที่ควรมีจุดศูนย์กลาง ทั้งที่เป็นสถานที่ผลิต โรงเรียน โรงงาน สถานที่จำหน่ายสินค้า แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง พอประมาณ ดังตัวอย่างที่บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร


การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดนารีรัตนราชกัญญา” ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” แห่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงเป็นประกายแสงแห่งความยั่งยืน           ที่พระราชทานแก่วงการผ้าไทย ด้วยความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัยและทุกวัน ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวน พี่น้องคนไทย ร่วมกันใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ อัตลักษณ์ผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่ สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการถ่ายทอดหัตถกรรม ผ่านผ้าทอจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบัน เผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ตลอดจนการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้กับตลาดผ้าไทย มั่นใจว่าผ้าไทยที่ถูกตัดเย็บจากฝีมือคนไทย ย่อมถูกใจคนไทยด้วยกัน ร่วมใจกันอุดหนุนผ้าไทย ให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มผู้ตัดเย็บ ผู้ทอ และผู้ที่เกี่ยวข้องลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศจากการนำเข้าเสื้อผ้าจากต่างประเทศ โดยทุกคนรุ่นหันกลับมานิยมผ้าไทยแทน มั่นใจว่าส่งผลดีโดยตรงต่อการเพิ่มพูนรายได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาและต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประทานแรงบันดาลใจ แก่ช่างฝีมือ ช่างทอผ้าไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ซึ่งในวันนี้มีกลุ่มที่รับมอบลายผ้าจากทุกภูมิภาค และเชื่อว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ด้วยพระองค์ทรงประทานอนุญาตให้สามารถใช้         ทุกเทคนิค กรรมวิธี สีสัน อย่างอิสระ  
 
ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 3 รอบ 36 พรรษา สมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดประกวดการแต่งกายผ้าไทย ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเครื่องแต่งกายผ้าไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิด การกระตุ้นให้คนทุกเพศ ทุกวัย ได้สวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกเวลา ทุกโอกาส
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เป็นเวลาร่วม 1 ปี และก่อนหน้านี้ พระองค์ได้พระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมถึงลายผ้าพระราชทานอื่น ๆ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของคนไทย ทำให้พี่น้องคนทอผ้าได้มีอาชีพที่มั่นคง ต่อลมหายใจผืนผ้าภูมิปัญญาไทย จากกี่ที่เงียบสงบมานาน ได้กลับมามีเสียงกระทบอีกครั้งหนึ่ง ชุบชีวิตให้ประชาชนคนทอผ้าในทุกชนบททั่วประเทศได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไปเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ในชุมชน เพราะผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และทุกลายพระราชทาน ขายดีมากทั่วทุกภูมิภาค และได้พระราชทานกุศโลบายผ่านการจัดประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา

 


    นับเป็นความโชคดีของพวกเราพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงส่งเสริมให้พี่น้องคนไทยรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มศิลปาชีพ โดยนำเอาภูมิปัญญา ฝีไม้ลายมือ ที่บรรพบุรุษถ่ายทอด ผลิตเป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมมากมาย และมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ และทรงเน้นย้ำถึงการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นการสนองพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน  “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ความว่ากรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน  “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ ๒ บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรม ที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ ๓ ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย
๒. เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน
3. เพื่อคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม จากพื้นที่ ๔ ภูมิภาค ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จำนวน 150 ผืน/ชิ้น
4. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม แต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
       โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร ทั้งนี้
   - มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวดทั้งหมด จำนวน 2,946 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 298 ชิ้น แบ่งเป็น 1. ภาคใต้ ประเภทผ้า จำนวน 240 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 84 ชิ้น
2. ภาคกลาง ประเภทผ้า จำนวน 232 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 67 ชิ้น
3. ภาคเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 456 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 69 ชิ้น
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้า 2,018 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 78 ชิ้น
การคัดเลือกจากกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค มีผ้าที่ผ่านการประกวดระดับภาค ทั้งสิ้น จำนวน 567 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 83 ชิ้น แบ่งเป็น ดังนี้
- จุดดำเนินการที่ 1 ภาคใต้ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเดอะเบดเวเคชั่น ราชมังคลา จังหวัดสงขลา แบ่งเป็น ประเภทผ้า จำนวน 56 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 27 ชิ้น
- จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง ในวันที่ 3 กันยายน 2565  ณ โรงแรมสุวรรณา ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 33 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 23 ชิ้น
- จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ วันที่ 10 กันยายน 2565 ณ โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 84 ผืน  ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 18 ชิ้น
- จุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2565 ณ โรงแรมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี แบ่งเป็น ประเภทผ้า จำนวน 394 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 15 ชิ้น
       จากนั้นได้จัดดำเนินการประกวดฯ รอบคัดเลือก ระดับภาค วันที่ 26 กันยายน 2565 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบฯ แบ่งเป็น ประเภทผ้า จำนวน 156 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 18 ชิ้น

   และการประกวดฯ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ ห้องชมวัง หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  มีจำนวนผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดในรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) แบ่งเป็น ประเภทผ้า 61 ผืน และงานหัตถกรรม 10 ชิ้น โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสิน การประกวด ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร นายอรรษิษฐ์ ฯกล่าวเพิ่มเติม

จากนั้น คุณรติรส จุลชาต ได้กล่าวถึง การสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทางด้านการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย ความว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสาน ภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2498 ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่  จึงได้มีพระราชดำริว่าควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎร ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้   ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้น
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา  ทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง และเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม   ได้พระราชทานลายผ้า  “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้แก่ช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด ไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัย สู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ได้กล่าวถึงแนวทางและเกณฑ์การประกวดผ้าลายพระราชทาน       “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน และประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยม ซึ่งในการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาค และระดับประเทศ การประกวดระดับภาคในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 65 และคณะกรรมการจะนำผ้าที่ได้รับจากระดับจังหวัดมาจัดประกวดระดับภาค แล้วคัดเลือกผ้าให้เหลือ 300 ผืน และ 150 ผืน โดยภาคใต้ ระหว่างวันที่ 26-27 ส.ค. 65 ภาคกลาง วันที่ 2-3 ก.ย. 65 ภาคเหนือ วันที่ 9-10 ก.ย. 65 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 16-18 ก.ย. 65 และระดับประเทศ โดยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ ห้องชมวัง หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกผ้า จากจำนวน 156 ผืน คงเหลือผ้า 60 ผืน  และงานหัตถกรรมอีก 10 ชิ้น เข้าสู่รอบตัดสินระดับประเทศ (Final) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานการประกวด ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ณ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

สำหรับรางวัลการประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ” ประกอบด้วย 1) Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท นำมาออกแบบตัดเย็บ ฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ 2) สี Trend Book 3) ลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม 4) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ยอดเยี่ยม 5) ผ้าไหมพื้นบ้านยอดเยี่ยม (ผ้าที่ใช้ไหมพันธุ์พื้นบ้าน และสาวไหมยอดเยี่ยม) 6) Young OTOP และสำหรับงานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่นและยอดเยี่ยม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ประกอบด้วย 1) ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2) ผ้าบาติกลายพระราชทาน และ 3) ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และ “ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน” ได้แก่ เหรียญทองคำ 21 รางวัล เหรียญเงิน 21 รางวัล และเหรียญนาก 21 รางวัล”
นายธนันท์รัฐฯ กล่าวเพิ่มเติม