7 ต.ค. 59 – ที่กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดินได้จัดประชุมมอบแนวทางการปฏิบัติราชการของกรมที่ดิน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ไปยังสำนักงานที่ดินทุกจังหวัด มีนายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานการประชุม และคณะรองอธิบดี หน่วยงานภายในกรมที่ดิน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยนายประทีป กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาที่พบของกรมที่ดินส่วนใหญ่คือ การร้องเรียนร้องทุกข์ ไม่ว่า จะผ่านการทำหนังสือ สื่อมวลชน และโซเชียลมีเดีย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ขออย่าให้อย่าไปวิตกกังวลอะไรมาก เข้าใจอยู่ว่า พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร ดังนั้นขอให้เริ่มนึกถึงหลักการที่มาที่ไปของปัญหาก่อน ตามด้วยบทบาทหน้าที่ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรื่องราวมีความเกี่ยวพันอย่างไร แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อแก้ไขต่อไป “ขอให้เร่งหาข้อเท็จจริงทันทีเมื่อเกิดเรื่องทุกจังหวัด ทางส่วนกลางจะตั้งทีมขึ้นมาคอยสนับสนุน ให้พิจารณาปัญหาเป็นมาอย่างไร บางครั้งอาจเป็นเรื่องเก่า ถ้าได้ข้อยุติแล้วก็จบไป แต่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นต้องดูมาจากสาเหตุอะไร ไม่ใช่ไปจบเลย บางทีมันมีอะไรมากกว่านั้น โดยแต่ละสำนักงานที่ดินทุกจังหวัดอาจลงพื้นที่เลยก็ได้ บางทีเรื่องร้อนๆอาจเย็นลงได้ แต่ไม่ใช่เป็นการลงไปตัดสินเขาเลย ให้ลงไปอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจการแก้ปัญหาของเรา โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน ถ้าไม่ลงไปงานจะเข้าเราเต็มๆ เพราะทุกสายตาจับจ้องมองมาที่เรา ทั้งๆที่บางครั้งต้นเหตุอาจจะไม่ได้มาจากเราก็ได้” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวและย้ำว่า การลงพื้นที่ไม่ใช่เป็นการไม่ไว้วางใจ เพราะบางครั้งสื่อมวลชนมีการเผยแพร่ในพื้นที่แล้ว เราจะนิ่งไม่ได้ สำนักงานที่ดินแต่ละจังหวัดต้องเชื่อมประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จะทำให้เขามองว่า ไม่โดดเดี่ยว เกิดความมั่นใจ และศรัทธามากขึ้น แม้ความถูกต้องเหมาะสม อาจจะยังนิ่ง แต่ความน่าเชื่อถือเราจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และอำเภอ สามารถรายงานปัญหา หรือประสานกับผู้ว่าฯ นายอำเภอได้ “พอเกิดเหตุปุ๊บ ขอให้รายงานทันที รายงานมาก่อน จะโทรมาที่ส่วนกลาง หรือโทรมาที่ผมก็ได้ เอาเท่าที่ได้ ถ้าไม่ทราบ เป็นเรื่องใหม่ ก็ขอให้แจ้งความคืบหน้าไปถึงไหน ขอให้บอกมา” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าว นายประทีป กล่าวต่อว่า ในเรื่องข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ขอให้ศึกษา แล้วชี้แจงสื่อมวลชน แต่ขออย่าให้เกิดความเสียหาย มีผลกระทบพาดพิงต่อบุคคลอื่น หรือข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นตัวเองลงไปชี้แจงเพื่อตัดสินเหมาะสมหรือไม่ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นเมื่อถึงเวลาก็ต้องว่า กันไปตามกรอบ ที่สำคัญต้องไม่บอกเป็นเรื่องของส่วนกลางที่ยังไม่ส่งมาในพื้นที่ คงไม่ใช่แบบนั้น เพราะฉะนั้นขอให้ระมัดระวังในการนำเสนอ “การทำงานต้องเชื่อมกัน ในกรณีที่เกิดภาพปรากฏจากสื่อ คงจะนิ่งนอนไม่ได้ เพราะสื่อเปรียบเสมือนกระจกส่องความคับข้องใจของประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนที่ขาดเกินไปจากข้อเท็จจริง เป็นหน้าที่ของเราต้องชี้แจง ขอให้อย่ากังวลถ้าผมโทรไปเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วกลัวว่าจะบกพร่อง อย่าได้คิดแบบนั้น ขอให้รายงานเท่าที่ได้ก่อน ค่อยว่ากัน” นายประทีป กล่าว อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ขณะที่การขอให้สำนักงานที่ดินในจังหวัด ทำความเห็น หรือตอบข้อหารือ กรณีต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) กระทรวง และกรม ขอให้ดำเนินการอย่างเร่งรัดภายใน 3 วัน จะเสร็จหรือไม่ต้องส่งมาก่อน หากต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้รายงานมาทุกสัปดาห์ สำหรับการพัฒนาการบริหาร และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เราต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่ดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชน หรือการประชุมใหญ่ภายในจังหวัด ก็อย่าไปวิตก อย่าไปเกร็งถ้าเสนออะไรไปแล้วกลัวจะถูกทักท้วง ถ้าหากมีประเด็นปัญหา ก็ต้องรับไปตรวจสอบ งานสำคัญที่เรามีก็ขอให้รายงานในที่ประชุม เพราะถ้าไม่ทำเขาก็ไม่รู้จักเรา “งานสำคัญของเราต้องเข้าใจมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าคนอื่นเขามารู้มากกว่าเรา ก็จะลำบาก นอกจากการประชุมแล้วขอให้ใช้ทุกช่องทางที่มีในการแจ้งปัญหา ให้ความรู้ หรือให้ประชาชนสามารถติดต่อได้ง่าย ผมเคยไปสำนักงานที่ดินสาขาหนึ่ง เพื่อยื่นเรื่องขอให้รังวัดความกว้างของที่ดินเพียงไม่กี่เมตรกว้างเท่าไหร่ ยื่นตั้งแต่บ่ายโมง จนมาดำเนินการในช่วงเย็น แต่ตอนนี้คงจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นราต้องเป็นที่ปรึกษาให้ประชาชนในยามที่เขาไม่มีทางออก” นายประทีป กล่าว อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่พูดถึงแล้วอึดอัด ในครั้งนี้ตนจะยึดตามที่สำนักงบประมาณกำหนดมา โดยจะให้สำนักงานตรวจสอบภายในของกรมที่ดิน เป็นพี่เลี้ยงทุกจังหวัด ถ้าจังหวัดใดงานไม่คืบก็จะลงไปติดตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการไปตำหนิ หรือลงโทษ แต่ลงไปช่วยเหลือ อะไรที่เป็นปัญหานอกเหนือจากนั้น ก็สามารถไปปรึกษาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้ ขอให้วางใจให้สำนักงานตรวจสอบภายในช่วยเหลือทุกจังหวัด ด้านนายมานัส ฉั่วสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ปัญหาในการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ถือว่า เป็นยาหม้อใหญ่ของกรมที่ดิน เรายังไม่ทราบแน่ชัดขณะนี้มีอยู่เท่าไหร่ แต่ข้อมูลที่ทราบจากสื่อมวลชนพบว่า ยังมีอยู่ประมาณ 4 ล้านฉบับ แต่เนื่องจาก ส.ค.1 ถูกยกเลิกไปแล้ว เราจึงต้องให้มีความชัดเจนว่ามีอยู่กี่ใบ คงจะต้องมานับทีละใบเอกสารจริงๆ เพื่อมาแก้ไขวางแผน ถ้าจำเป็นจะต้องแก้ไข ยกเลิกกฎหมาย หรือออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็จะทำให้การทำงานโปร่งใสขึ้น และลดการทุจริตให้น้อยลง