“สุวพันธุ์” นำถกคณะขับเคลื่อนมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาตามคำสั่งคสช. 49/59 จ่อชงครม.กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ศาสนา เน้นวธ.-พศ.-กรมการศาสนา ทำงานร่วมกันเป็น “ศาสนิกสัมพันธ์” ยัน รบ.ไม่แก้รธน.ปมถูกบิดเบือนศาสนา ปัดตอบกรณี "พระธัมมชโย" หลังอัยการสั่งเลื่อนคดี เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 49/2559 ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นถือครั้งที่ 2 โดยเราได้เรียกผู้แทนจากทุกหน่วยด้านศาสนาและผู้แทนศาสนาเพื่อหารือแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับคำสั่งคสช.ที่ 49/2559 โดยจะพิจารณายุทธศาสตร์ อาทิ การสนับสนุนการศึกษา การส่งเสริมและคุ้มครองศาสนา การเผยแพร่หลักธรรมที่ถูกต้อง การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ และการสร้างความรับรู้และความเข้าใจในกิจการของศาสนาต่างๆ ซึ่งทางผู้แทนศาสนาได้ช่วยกันคิดมาเรียบร้อยแล้วและเราจะมาช่วยประมวลสรุปร่วมกันต่อไป นายสุวพันธุ์ กล่าวต่อว่า ใครที่มีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมก็สามารถส่งมาพิจารณาภายในวันที่ 20 ต.ค.นี้ จากนั้นสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรมการศาสนา และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะร่วมพิจารณาและจะประชุมครั้งที่ 3 อีกครั้งในวันที่ 18 ต.ค.เพื่อสรุปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในพ.ย.นี้ จากนั้นเราจะออกเป็นแผนดำเนินงานเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในไทยต่อไป อย่างไรก็ตามต่อจากนี้เราจะมีการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายคือ พศ. กรมการศาสนา และวธ.หรือที่เรียกว่าศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาร่วมกัน เมื่อถามถึงร่างรัฐธรรมนูญที่มีการสร้างความเข้าใจผิดเรื่องศาสนา นายสุวพันธุ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้อธิบายให้เข้าใจในการประชุมครั้งที่ผ่านมาแล้ว และผู้แทนของทุกศาสนาเข้าใจ และมองเห็นว่าคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 49/2559 ที่ให้เชิญหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรทางศาสนาทุกศาสนามาหารือ เพื่อแนวทางปฏิบัติฉบับนี้ช่วยสร้างความกระจ่าง ทั้งนี้เมื่อมีการเสนอเข้าครม. และเห็นชอบ คณะกรรมการดังกล่าวนี้ก็ยังจะทำงานโดยจะมีการประชุมทุกๆ 3 เดือน ในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย ส่วนในเชิงขับเคลื่อนจะให้พศ.และกรมการศาสนาไปทำงานร่วมกัน และมาอธิบายให้คณะกรรมการฯ ฟังทุกๆ 3 เดือน เมื่อถามว่าจะต้องออกเป็นกฎหมายถาวรก่อนหรือไม่ เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกมองว่ามีปัญหาเรื่องการบิดเบือนไปแล้ว นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น ในส่วนที่บิดเบือนไปถ้าเรานำข้อเท็จจริงไปตอบ ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนก็จะจบไป ตนเชื่อว่าข้อเท็จจริงได้ตอบไปแล้วว่ารัฐบาลคิดอย่างไร รัฐธรรมนูญจริงๆ เขียนอย่างไร และรัฐบาลทำอย่างไร เราสานต่อจนถึงทุกวันนี้ ต่อไปหาก ครม. เห็นชอบในยุทธศาสตร์และแนวทางเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงฝ่ายขับเคลื่อน ฝ่ายราชการ และฝ่ายนโยบายจะเดินไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งจะสามารถติดตามดูแลความก้าวหน้า ทำให้การดำเนินงานของศาสนาต่างๆ เป็นไปอย่างถูกทิศทาง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เมื่อถามถึงประเด็นอัยการสั่งเลื่อนคดีพระธัมมชโยกับพวกคดีฟอกเงินเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากผลสอบเพิ่มเติมยังไม่ครบถ้วน และมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบ นายสุวพันธุ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องของอัยการ