นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีของไทยในไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัว 2.5% ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.3% ทำให้ครึ่งปีแรก จีดีพีไทยขยายตัวได้ 2.4% คาดทั้งปี 2565 จีดีพีจะขยายตัว 2.7-3.2% แต่ปรับลดตัวบนจากเดิมคาด 2.5-3.5% เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปรับลดลงของเศรษฐกิจโลก และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศที่เพิ่มปรับขึ้น

ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยจะมีรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.6 แสนล้านบา หรือเป็นจำนวน 9.5 ล้านคน จากเดิมคาดว่าจะมีต่างชาติเข้าเที่ยวไทย 7 ล้านคน สร้างรายได้ 5.7 แสนล้านบาท ส่วนมูลค่าการส่งออกทั้งปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.9% จากเดิม 7.3% ขณะที่เงินเฟ้อคาดทั้งปี 65 อยู่ระดับ 6.3-6.8% จากเดิมคาด 4.5-5.2% แต่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเหมือนกับประเทศอื่นที่ 8-9% ซึ่งในไทยประเมินว่าจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ คงจะเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับภาวะปกติจากการผ่อนคลายมาตรการ การเดินทางในประเทศปรับตัวดีขึ้น การทำงานดีขึ้น รายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจขยายตัวตามการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออก รวมทั้งการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้มากขึ้นตัวเลขจากต้นปีมีต่างชาติเข้าเที่ยวไทยแล้ว 3.3 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส4 ซึ่งเป็นช่วงพีค หรือฤดูท่องเที่ยวของไทย ส่วนปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามความผันผวนเศรษฐกิจและการเงินโลก ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก และเรื่องเงินเฟ้อและปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงของประเทศต่างๆ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินโลก และการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาหนี้สินจากภาคอสังหาริมทรัพย์

"ในประเทศปัจจัยเสี่ยงยังเป็นภาระหนี้สิน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อภาวะการใช้จ่ายครัวเรือนและธุรกิจทำให้ต้นทุนเอกชนเพิ่ม จึงต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบ และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจที่มีศักภาพที่ให้สามารถเติบโตได้ต่อไป และครัวเรือนปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีกำลังในการใช้จ่ายในช่วงต่อไปได้ อย่างไรก็ตามยังมีความไม่แน่นอนทั้งโควิดและฝีดาษลิง แม้น้ำหนักการระบาดทั้งสองโรคจะมีน้ำหนักไม่มาก แต่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป และความเสี่ยงจากน้ำท่วม ส่งผลต่อพื้นฐานการเกษตรและผลผลิตการเกษตร"

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ประกอบด้วย 1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภารดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า โดยมาตรการต้องพุ่งเป้า ไม่ซ้ำซ้อนจากที่ผ่านมา เป็นมาตรการช่วยลดผลกระทบภาระการคลังประเทศ เฉพาะกลุ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ภาระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า คนละครึ่ง แต่ช่วงต่อไปต้องดูว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีปัญหาใหม่หรือไม่ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการทางการเงิน เข้าช่วยเหลือครัวเรือน เอสเอ็มอี ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยขึ้นต้นทุนการเงินปรับเพิ่ม แต่ตอนนี้ทางกระทรวงการคลังได้ขอแบงก์รัฐ คงดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อลดผลกระทบในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และอยากให้แบงก์พาณิชย์ขอให้คงดอกเบี้ยไว้ก่อน และมีมาตรการช่วยเหลือลดผลกระทบเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้

2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น บรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต , การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และการเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย 3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า เช่น ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ , การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า , การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง , การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นๆให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ , การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งต้องขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สนับสนุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว

6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 – 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย,การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต , การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ,การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค,การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์