วันที่ 12 ส.ค.2565 - นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 1 / 2565 ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะกรรมการโดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรจุแผนการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตไปในโอกาสนี้ด้วย โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้ตัวแทนคือ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ สำหรับการประชุมเฉพาะกิจวันนี้นั้นเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 170 / 2565 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติด้านเศรษฐกิจลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธานและมีรองนายกรัฐมนตรี 4 ท่านเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและฝ่ายเลขานุการ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจแล้วสองครั้ง โดยสำนักงานที่โยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมและได้เสนอแผนที่ดำเนินการไปแล้วโดยการนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จุรินทร์ นอกจากนั้นก็จัดทำข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นางมัลลิกา กล่าวว่า รัฐบาลทำแผนรองรับ 4 ด้านคือ 1.ด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร 3.ด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี 4.ด้านเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันโดยทั้ง 4 ด้านนั้นมีมาตรการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ Current policy มาตรการระยะเร่งด่วนหรือ Quick win และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องหรือ Follow -up Urgent policy

โดยในส่วนมาตรการรองรับที่กระทรวงพาณิชย์เสนอที่ถูกนำบรรจุไว้ในข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมคือ 1.การควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน 2.การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.การเร่งรัดเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าที่มีศักยภาพและเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และการแก้ไขอุปสรรคปัญหาและผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 4.การยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่ 5.การเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ การทำข้อตกลงเจาะตลาดเมืองรองด้วยมินิเอฟทีเอ 6.การจับคู่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ Online Business Matching และในการประชุมกรรมการใหญ่ทางรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ก็ได้ขอเพิ่มมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือทางปศุสัตว์ไปด้วย

ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์โลกโดยมีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและความขัดแย้งเรื่องใต้หวันและประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและกรณีที่ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบ หน่วยงานต่างๆทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศธนาคารโลกรวมถึง OECD ต่างก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่องและในทางกลับกันก็ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นยังได้ตรวจสอบเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างละเอียด

โดยได้สรุปแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ แยกเป็น 4 ส่วนคือวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร วิกฤติด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และวิกฤติโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน  

สำหรับมาตรการเร่งด่วน หรือ Quick Win ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านวิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้า ได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานราชการลดการใช้ไฟ และให้พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องจากราคาน้ำมันแพงเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในมุมประชาชน ส่วนกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการจัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือนของ ขสมก. รฟท. และ รฟม. เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน