นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้มีกำลังในการขับเคลื่อนธุรกิจตนเองให้เดินหน้าต่อไป ภายใต้แรงกดดันของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจในภาพใหญ่เติบโตขึ้นได้ 

ทั้งนี้ “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” (ธพว.) หรือ SME D Bank หน่วยงานที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท้องถิ่นได้ทั่วประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการพลิกฟื้นธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19  ในการช่วยเติมทุนเสริมสภาพคล่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม "เอสเอ็มอีท่องเที่ยว"  

“นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ให้สัมภาษณ์กับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องให้กลับมาเดินหน้าธุรกิจได้เต็มศักยภาพ   ธพว.ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเข้าถึงมาตรการ “เติมทุนคู่พัฒนา” เพื่อช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยออก “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน 2,000 ล้านบาท นับจากเริ่มโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 มียอดยื่นกู้แล้วมากกว่า 860 ราย วงเงินมากกว่า 1,500  ล้านบาท คาดว่าจะเต็มจำนวนวงเงินภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งธนาคารกำลังขยายวงเงินให้กู้เพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาท สะท้อนแนวโน้มเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้ง 

สำหรับความช่วยเหลือด้านการเงิน “สินเชื่อ SMEs Re-Start”ดังกล่าว เป็นหนึ่งในการสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง  หลังจากที่ ธพว. พาเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาลมาแล้วด้วย “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy Loan) และ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash”  รวมแล้วนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน  ธพว. สนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งทุนไปแล้ววงเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท จำนวนมากกว่า 30,000 ราย   

ขณะเดียวกันยังช่วยเหลือด้าน “การพัฒนา” ควบคู่เสมอ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยเพิ่มศักยภาพ สามารถปรับตัวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ เช่น จัดสัมมนาแนวโน้มการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 และช่วยยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว  เป็นต้น นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 พาเข้าสู่กิจกรรมด้านการพัฒนารวมกว่า 35,000 ราย   

ส่วนแนวทางการสนับสนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวนั้น  ธพว. ใช้กระบวนการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะรู้จักและเข้าใจความต้องการผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างดี ก่อประโยชน์ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากท้องถิ่น สร้างการเติบโตอย่างเหมาะสมและยั่งยืน  

ทั้งนี้หนึ่งในต้นแบบ คือ ความร่วมมือกับ “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา” ผลักดันโครงการ “เบตงหมื่นล้าน” ส่งเสริมเอสเอ็มอีท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ยกระดับเพิ่มศักยภาพธุรกิจ รองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมถึง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  ผ่านการพาเข้าถึงแหล่งทุน “สินเชื่อ SMEs Re-Start” รวมถึง ต่อยอดพาเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยว และมัคคุเทศก์ในท้องถิ่น เข้าถึงกิจกรรมพัฒนาเติมความรู้ เพื่อยกระดับธุรกิจและอาชีพ เช่น  การตลาด ลดต้นทุนธุรกิจ เป็นต้น ช่วยปรับตัวรองรับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่กำลังจะเติบโต  อีกทั้ง  จับมือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายสินค้าที่ระลึก  จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่าน E-book “โปรดี๊ดี เอสเอ็มอีทั่วไทย” ที่สามารถดาวน์โหลดใช้บริการได้ฟรีที่หน้าเว็บไซต์ของ (ธพว. www.smebank.co.th )    

“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ธพว.ยืนหยัดเคียงข้างดูแลเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นมากกว่าสถาบันการเงิน ทั้งพาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่กับมีกระบวนการด้านการพัฒนา ยกระดับ  เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเดินหน้ากิจการได้ด้วยดีอีกครั้ง”   

นางสาวนารถนารี กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565ว่า  เป็นไปตามเป้าหมาย  สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว จำนวนประมาณ 7,500 ราย วงเงินกว่า 32,000 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นกว่า 51%  จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2564) สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 146,000 ล้านบาท ควบคู่กับช่วยด้านการพัฒนายกระดับธุรกิจ ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงการเติมความรู้ ขยายตลาด จับคู่ธุรกิจ และพาเข้าโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น  

ทั้งนี้กำหนดเป้าหมายตลอดปี2565 จะสนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท ควบคู่สนับสนุนด้าน “การพัฒนา”  กว่า 21,000 ราย ผ่านการจัดกิจกรรมอบรมยกระดับ เพิ่มศักยภาพธุรกิจ  รูปแบบทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Focus Group “เติมทุนเอสเอ็มอีไทย ติดเครื่องธุรกิจ”  และบริการ  “SME D Coach” ให้คำปรึกษาเอสเอ็มอีครบวงจร ช่วยให้เอสเอ็มอีเดินหน้าธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ด้านชายแดน(จุดผ่านแดนถาวร) จำนวน 17 จังหวัด 31 ด่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ​ ด่านพรมแดนเบตง​ จ.ยะลา “นายเชาวน์ ตะกรุดเงิน” นายด่านศุลกากรเบตง กล่าวถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยผ่านด่านเบตงว่า นับตั้งแต่ 1 พ.ค. 65หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบการเปิดด่านทางบกฯนั้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแล้วกว่า 5.7หมื่นคน​ ส่วนใหญ่คือชาวมาเลเซีย​ รองลงมาคือสิงคโปร์​ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อสถานการณ์​การท่องเที่ยวในพื้นที่​ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์​