คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

แทบไม่น่าเชื่อเลยที่แม้ว่าเมื่อสี่สิบปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าตอนนี้สัมพันธภาพอันดีเกิดอาการหน่ายแหนงเหมือนเป็นแผลตกสะเก็ด เพราะเพียงแค่ “ประธานสภาฯแนนซี เพโลซี” เดินทางไปเยือนไต้หวันก็เหมือนเอาเล็บไปสะกิดให้แผลเลือดไหลซิบๆ

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีคำถามที่น่าเก็บมาคิดเกิดขึ้นมาแล้วนั่นก็คือ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” เป็นผู้สร้างวิกฤตต่างๆให้เกิดขึ้นมาใช่หรือไม่?

แต่ก่อนที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ ผมใคร่ขอเล่าถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเมื่อสี่สิบปีที่แล้วให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบพอสังเขปเสียก่อน!!!

หากย้อนกลับไปดูการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ดูช่างแสนจะยุ่งยากลำบากมากมายเลยทีเดียว

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีค.ศ. 1971 “ดร.เฮนรี คิสซินเจอร์” ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกเดินทางไปยังประเทศจีนอย่างลับๆไม่เป็นทางการ ต่อจากนั้นไม่นานปรากฏว่าองค์การสหประชาชาติก็ออกมาประกาศสนับสนุนรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1972 “ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน” ก็ได้ออกไปเยือนจีนโดยใช้เวลาถึง 8 วันพบปะพูดคุยกับ “ประธานเหมา เจ๋อตุง” และได้ลงนามใน “แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้” ร่วมกับ “นายกรัฐมนตรีโจวเอิน ไหล”และยังได้หารือเกี่ยวกับปัญหาความยากลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับไต้หวันที่ครั้งครานั้นเปรียบเสมือนเวทีปรับปรุงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนให้แนบแน่นราบรื่นเรื่อยๆมา

อีกทั้งในยุคของ “ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์” ยังได้เห็นถึงการประนีประนอมยอมความในเรื่องให้การรับรองทางด้านการทูตแก่จีนอย่างเต็มรูปแบบ และในขณะเดียวกันสหรัฐฯในยุคนั้นก็ยังยอมรับหลักการเกี่ยวกับนโยบาย “จีนเดียว”และยังตัดความสัมพันธ์ตามปกติกับไต้หวันอีกด้วย!!!

แต่ปรากฏว่าเดือนเมษายน ปีค.ศ. 1972 สภาคองเกรสกลับเปลี่ยนท่าทีออกมาป่าวประกาศอนุมัติพระราชบัญญัติกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันที่อนุญาตให้สหรัฐฯดำเนินการค้าและวัฒนธรรมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกรุงวอชิงตันยังจัดหาอาวุธให้ไต้หวันใช้ป้องกันประเทศ แต่ก็ยังทำแบบกระมิดกระเมี้ยนมิได้ละเมิดต่อนโยบายจีนเดียว

อย่างไรก็ตามปรากฏว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ดูเหมือนว่ามีความแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นเริ่มต้นในสมัยของ “อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา” ซึ่งครั้งนั้นคนจีนมีความนิยมชมชอบต่อสหรัฐฯอยู่ที่ 51%

และตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ปรากฏว่าจีนสามารถครองตำแหน่งในการเป็นเจ้าหนี้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯรายใหญ่อันดับหนึ่งสูงสุดแซงขึ้นหน้าญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากยุคสมัยนั้นสหรัฐฯเกิดวิกฤตการเงินและภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จึงได้กลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องแบกหน้าไปกู้เงินจากจีน เพื่อนำมาสนับสนุนการขาดดุลของรัฐบาล โดยขณะนั้นสหรัฐฯขาดงบดุลสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเวลานานกว่าสี่ปี

อีกทั้งในปีค.ศ. 2010 ซึ่งสหรัฐฯยังคงอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา โดยขณะนั้นประเทศจีนสามารถขยับตัวยกสถานะตนเองให้กลายเป็นประเทศที่ครองเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกไปแล้ว!!!

และในปีค.ศ. 2014 ก็ได้มีการประชุมที่จัดขึ้นนอกรอบระหว่างอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยครั้งนั้นทั้งสองผู้นำได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทั้งคู่ต่างจับมือให้คำมั่นสัญญากันว่า “จะลดการปล่อยคาร์บอน” โดยสองประเทศจะควบคุมการเติบโตของการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ.2030

อนึ่งจากการสำรวจของ Pew Research Center ปรากฏออกมาว่า ในยุคสมัยของ “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ชาวอเมริกันมีมุมมองติดลบต่อประเทศจีนมากถึง 73% โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่า จีนคือ ภัยคุกคามอันน่าอันตรายอันดับต้นๆของสหรัฐฯ

และในทางกลับกันจากผลของการสำรวจปรากฏว่า พี่น้องชาวจีนก็มีภาพพจน์ด้านลบต่อคนอเมริกันมากถึง 72% ด้วยเช่นกัน!!!

เท่ากับว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับสหรัฐฯเริ่มตกต่ำลง โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดศึกสงครามด้านการค้าที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆตามลำดับ โดยอดีตเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2018 เขาได้ออกมาประกาศเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนที่มีมูลค่าอย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าเป็นการทำโทษจีนที่ขโมยเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ

และต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้กำหนดอัตราภาษีใหม่ต่อจีนเป็นมูลค่ารวม 34 พันล้านดอลลาร์

จากนั้นไม่นานสัมพันธภาพอันดีระหว่างจีนและสหรัฐฯมีความตึงเครียดสูงจนเกือบขาดสะบั้น สาเหตุเกิดจากประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาป่าวประกาศว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ามาจากประเทศจีน!!!

ล่าสุดนี้ในยุคสมัยของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ดูเหมือนว่าเขาก็ยังคงยึดเอาอัตราการเก็บภาษีสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนเหมือนๆกับในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ แถมยังใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ทว่าอีกมุมหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ “วุฒิสมาชิกคริส แวนโอลเลน” จากรัฐแมริแลนด์ได้ออกมาแสดงแนวความคิดเปลี่ยนทัศนะใหม่โดยชี้ว่า “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างหากละ ที่เป็นฝ่ายสร้างวิกฤตต่างๆขึ้นมา”

โดยวุฒิสมาชิกผู้นี้ได้กล่าวในรายการของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ของสื่ออเมริกันในรายการ   “Meet the Press”ว่า “ผู้แทนของรัฐสภาสหรัฐฯเดินทางไปเยือนไต้หวันบ่อยๆครั้ง โดยทุกๆครั้งก็มิได้มีปัญหาใดๆตามมา แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกำลังจะสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้นในการที่ประธานสภาฯแนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือนไต้หวัน” โดยวุฒิสมาชิกท่านนี้อธิบายว่าประธานธิบดีสี จิ้นผิงกำลังแสวงหาวาระในการที่จะดำรงตำแหน่งนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีในสมัยที่สามต่อไปอีกห้าปีนั่นเอง!!!

จะเห็นได้ว่าหลังจากการเดินทางไปเยือนไต้หวันของประธานสภาฯแนนซี เพโลซี เสร็จสิ้นลงไปแล้วนั้น จีนได้ออกมาแสดงแสนยานุภาพอนุญาตให้ทหารมีการซ้อมรบล้อมรอบเกาะด้วยบรรดาเรือรบ และเครื่องบินแถมยังซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามประเทศ ซึ่งไปตกลงใกล้ๆกับญี่ปุ่นอย่างน่าหวาดเสียว ที่เหตุการณ์เยี่ยงนี้ไม่เคยมีมาก่อน

อนึ่งวุฒิสมาชิกคริส แวนโอลเลน ยังกล่าวชี้ต่อไปอีกว่า ขณะนี้ดูเหมือนว่าจีนได้ออกมาข่มขู่และคุกคามสหรัฐฯและไต้หวันแบบย้ำๆซ้ำๆก่อนหน้าที่ประธานสภาฯแนนซี เพโลซีมีดำริที่จะเยือนไต้หวันด้วยซ้ำไป แถมจีนยังออกมายุติข้อตกลงร่วมกับสหรัฐฯในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเรื่องการต่อต้านยาเสพติด

ซึ่งถือเป็นความเสียหายแก่ชาวโลกจากวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะการที่จีนไม่ต้องการสานต่อในเรื่องสภาพภูมิอากาศกับสหรัฐฯย่อมจะมีผลทำให้สภาพภูมิอากาศโลกในอนาคตเกิดอันตรายสูงสุด เพราะจีนและสหรัฐฯเป็นผู้ก่อมลพิษคาร์บอนบนโลกใบนี้มากถึง 40%

ท้ายสุดวุฒิสมาชิกท่านนี้ยังได้เน้นย้ำต่อไปว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าต่อไปในภายภาคหน้าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะทวีความรุนแรงด้วยการกระทำรุกรานต่อไต้หวัน และอาจจะแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นไปทั่วทั้งภูมิภาคก็เป็นได้”

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “พญาอินทรี”เช่นสหรัฐอเมริกา และ “พญามังกร”เยี่ยงจีนที่ทั้งสองประเทศได้สะสมความไว้วางใจต่อกันเอาไว้ในช่วง 40 ปีแม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ค่อยราบรื่นก็ตาม แต่ขณะนี้ดูเหมือนกลิ่นเหม็นขี้หน้ากำลังคุกรุ่นความสัมพันธ์อันดีใกล้จะจบลง โดยจีนคงจะพยายามทำทุกๆวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯเข้าไปก้าวก่ายพัวพันกับไต้หวัน แต่สำหรับสหรัฐฯแล้วดูเหมือนว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในฐานะลำบากกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะลั่นวาจาเอ่ยปากไปแล้วว่า จะค้ำประกันความมั่นคงให้แก่ไต้หวัน ส่วนที่มีการกล่าวอ้างกันว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงคือผู้ที่ออกมาสร้างกระแส เป็นตัวการก่อวิกฤตนั้นอาจจะมีทั้งความเป็นไปได้หรือมิได้เป็นไปแบบที่คิดๆกัน ก็สุดแล้วแต่ใจใครจะคิดละครับ