"วิษณุ" แจงกระทู้ "ก้าวไกล" ความคืบหน้าติดตามตัว "บอส อยู่วิทยา"  เผยหลายหน่วยงานเร่งดำเนินการ "ธีรัจชัย" อัด รัฐบาล สังคมกังขา เกิดความเหลื่อมล้ำกระบวนการยุติธรรม คนรวย ยังไม่ถูกลงโทษ 

วันที่ 11 ส.ค.65  เวลา13.25น. ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ถึงความคืบหน้าการติดตามเร่งรัด จับกุมตัวนายวรยุทธ์ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง กรณีขับรถชนตำรวจตาย เมื่อปีพ..2555 คดีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชน กรณีนี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ที่ยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ที่มีฐานะร่ำรวยมาลงโทษทางกฎหมายได้ 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงว่า ความคืบหน้า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบ ชุดที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานตรวจสอบ ได้ส่งเรื่องให้รัฐบาลเมื่อปี2563 และรัฐบาลส่งให้ป.ป.ท. ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไปอีก 5 หน่วยงาน คือ 1.ปปช. ที่ต้องตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ มีรายชื่อต้องตรวจสอบ 19 รายชื่อ ตามที่คณะกรรมการชุดของนายวิชา รายงานมา พบว่า มีผู้ถูกกันไว้เป็นพยาน2คน ไม่เกี่ยวข้อง2คน เหลืออีก15คน จากนั้นปปช.เต็มคณะได้มีการไต่สวน ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวน ตรวจสอบ 2.สำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจาก มีอัยการที่ถูกตรวจสอบ ทางอัยการตั้งกรรมการตรวจสอบ ต่อมามีคำสั่ง ลงโทษทางวินัยรองอัยการสูงสุดในขณะนั้น ให้ออกจากราชการ และอีกคน กำลังถูกสอบวินัยร้ายแรง ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 

3. กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รัฐบาลส่งให้ตรวจสอบพร้อมกับให้รับเป็นคดีพิเศษ ชั้นต้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง เห็นว่า ไม่มีเหตุให้รับเป็นคดีพิเศษ เพราะอยู่ในการตรวจสอบของหน่วยงานอื่นแล้ว แต่คณะกรรมการคดีพิเศษเห็นว่า บางประเด็นน่าจะรับเป็นคดีพิเศษ และชี้ประเด็นให้คณะอนุกรรมการฯ รับไป แต่เนื่องจากยังไม่ถึงวงรอบการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่อีกไม่กี่วันนี้ จะถึงวงรอบการประชุมอีกครั้ง และคงจะได้รับทราบว่าจะมีการรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่   

4.สภาทนายความ ที่ตรวจสอบทนายความที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังใกล้จะปิดสำนวนการตรวจสอบ 5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) มีนายตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายราย โดยผบ.ตร.ให้สอบทั้งทางวินัย อาญา พร้อมกับแก้ระเบียบตามคำแนะนำ เพื่อทำให้การตรวจสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เบื้องต้นในการตรวจสอบ ให้ยุติเรื่องการตรวจสอบตำรวจบางราย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ขณะที่นายตำรวจยศ พ.ต.อ. บางคน ต้องตรวจสอบเพิ่มเพื่อให้ได้ความชัดเจนว่าจะมีการลงโทษวินัยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ  

“หลายเรื่องการตรวจสอบยังไม่จบ ตามที่ท่านได้ตั้งกระทู้ถามมาตั้งแต่วันที่ 1มี.ค. ยังมีการตรวจสอบอยู่จากหลายหน่วยงานเข้าใจว่า น่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม”นายวิษณุกล่าว

นายธีรรัจชัยกล่าวอีกว่า  การตอบคำถามของนายวิษณุ เป็นแบบกว้างๆย่อๆไม่ระบุ แต่สำหรับคณะกรรมการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ของสนช. ที่เป็นน้องชาย รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นคณะกรรมการ ยังไม่มีใครทำอะไร เพราะถูกระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงความเร็ว ที่ส่งผลต่อคดี มีผลให้สั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ นับแต่เม.ย.2560 นายวรยุทธ หนีออกไปต่างประเทศ รัฐบาลมีความตั้งใจในการติดตามนายวรยุทธมาดำเนินคดีหรือไม่ 

นายวิษณุ ชี้แจงอีกครั้งว่า การสั่งย้ายตำรวจที่ทำคดีนี้ เป็นการย้ายตามปกติ ไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อ2ปีแล้ว การติดตามตัว หน่วยที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กระบวนการติดตามตัวเหมือนกับผู้ต้องหาคนอื่นที่หลบหนีไปต่างประเทศ สตช.ดำเนินการติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลในประเทศต่างๆ ที่คาดว่าผู้ต้องหาจะไปหลบหนีคดี แต่ก็ยังไม่พบหลักฐาน การผ่านเข้า-ออกในประเทศนั้นๆ หนังสือเดินทางนายวรยุทธ หมดอายุไปแล้ว ยังไม่พบ การขอออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ขณะเดียวกันตำรวจติดต่อไปยัง ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล เพื่อขอตรวจสอบในทางลับด้วย แต่ยังไม่พบความคืบหน้า โดยตำรวจได้ติดตามในทางลับอื่นด้วย เท่าที่พอยกตัวอย่างได้ ได้ติดตามญาติ ที่เดินทางไปต่างประเทศ  เผื่อว่าจะมีการไปพบปะติดต่อกัน แต่ก็ยังไม่พบผู้ต้องหา 

“นายวรยุทธ ที่เป็นผู้ต้องหา ยังมีคดีติดตัว2คดี คือ 1.คดีทางยาเสพติด แต่จากการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดเมื่อเร็วๆนี้ ลดโทษจำคุกจากการลงโทษที่สูงให้ลดลงมา พลอยทำให้อายุความลดลงตามไปด้วย เป็นเหตุให้อายุความยาเสพติด สิ้นสุดลง คือหมดอายุความไปแล้ว  2.ข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงความตาย นับจากวันนี้ ยังอยู่ในอายุความอีก 5 ปี เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ยืนยัน จะใช้กระบวนการต่างๆที่มีอยู่ ความร่วมมือกับต่างประเทศ และการใช้ช่องทางต่างๆ ในการร่วมมือกับต่างประเทศติดตามตัวมาดำเนินคดีให้ได้ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศ เรื่องทั้งหมดยังอยู่ในปปช. ที่เกี่ยวข้อง 15 คน มีทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน ซึ่งยังอยู่ในสำนวน ปปช. และทางรัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือตรวจสอบอย่างเต็มที่” นายวิษณุ กล่าว