เมื่อวันที่ 11 ส.ค.65 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบของลูกค้าประชาชน พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติในรูปแบบ Smooth Takeoff โดยนโยบายดอกเบี้ยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ

“เราหยุดหรือฝืนระบบไม่ได้ แต่เราชะลอได้ การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะพยายามชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องดูการตอบรับของตลาดการเงินว่าจะมีผลกระทบขนาดไหน และจะนานแค่ไหนคงต้องดูแบบช็อตต่อช็อต ดูโครงสร้างทางการเงินของแต่ละธนาคาร ซึ่งการประชุม กนง. ยังเหลืออีก 2 ครั้งจนถึงสิ้นปีนี้ คงต้องดูผลกระทบวันนี้ที่จะมีต่อตลาดการเงินและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการประชุมที่เหลือด้วย ซึ่งจากนี้จนถึงสิ้นปีมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25-0.50% ต่อปี และการปรับขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ก็สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และที่ผ่านมา ธปท. ก็มีการสื่ออย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ แต่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งกลุ่มนี้ระบบอาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษ” 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการดูแลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอผลกระทบกับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับตัวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ประคับประคองให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ กลับมา สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้สามารถมีรายได้สมดุลกับรายจ่ายมากขึ้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความเหมาะสมทั้งฝั่งของลูกค้าเงินฝากและเงินกู้ จังหวะ และขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ให้เกิดการสะดุดของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และ ภาคประชาชน” นายผยง กล่าว

ส่วนลูกค้ารายใหญ่ มีความยืดหยุ่น สามารถสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงได้ก่อน ส่วนลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทั้งสินเชื่อ เช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้จะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่ค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนคงที่ จึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้หนี้ระยะยาวผ่าน มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างตรงจุดให้กับผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย มีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2566 คาดว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจน มาตรการเพิ่มสภาพคล่องผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ดำเนินการจนถึงเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งแต่ละธนาคารได้ จัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่ม ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของ แต่ละราย เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น เป็นการปรับขึ้นสู่ภาวะปกติ เพราะที่ผ่านมาต่ำผิดปกติ เนื่องจากต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระห่างการถอนคันเร่งเพื่อปรบเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนการดำเนินการของธนาคารพาณิชน์นั้นจะต้องดูความสมดุลของงบดุลของแต่ละสถาบันการเงินให้เหมาะสม เพราะธนาคารพาณิชย์ได้สภาพคล่องจากการฝากเงิน กู้เงินและออกตราสารหนี้ต่าง ๆ เมื่อได้สภาพคล่องก็นำมาปล่อยกู้ต่อ ดังนั้นการดำเนินการเรื่องอัตราดอกเบี้ยจึงต้องพิจารณาเรื่องงบดุลให้เหมาะสมเพื่อไม่กระทบกับเสถียรภาพของแต่ละธนาคาร

นายผยง กล่าวอีกว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหน้าผาเอ็นพีแอล (NPLs Cliff) ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะแม้สถานการณ์ลูกค้าโดยรวมดีขึ้น แต่มีกลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ต้องได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการจำนวนมาก โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่ง แต่เมื่อเทียบกับธนาคารในภูมิภาค ธนาคารพาณิชย์ไทยยังเผชิญความท้าทายในด้านการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับต่ำกว่า และฟื้นตัวช้ากว่าในภูมิภาค ดังนั้น การรักษาระดับความแข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ระบบธนาคารสามารถดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับตัว ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนได้ และพร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าและเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ