นายกฯ พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรธน. ปมนายกฯ 8 ปี ขออย่าตีความกันเอง ระบุมีคนบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวกดดัน ด้าน"อดีตกรธ. "แจงบันทึกประชุมไม่ใช่มติ ชี้ปมนายกฯ8ปี ต้องให้ศาลรธน.ตีความ "หมอชลน่าน" ไม่สนข่าวแฉดีลลับจับมือพปชร.ดัน "ลุงป้อม"นั่งนายกฯ  สุทินเผยฝ่ายค้านให้เกียรติแต่ละพรรค ย้ำสูตรเพื่อไทยหาร 100  ขณะที่สภาถกกม.ลูกวุ่น พรเพชรสั่งปิดประชุม หลังองค์ประชุมไม่ครบ     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ส.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.61 อ้างความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายสุพจน์  ไข่มุกด์ ต่อประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ว่า ส่วนตัวตนมองว่ามีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการกดดันหวังสร้างประเด็นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม โดยหยิบเอาบางช่วงบางตอนของเอกสารดังกล่าวที่เป็นความเห็นของกรรมการเพียงไม่กี่คนมานำเสนอจนเกิดความสับสน ทั้งที่เอกสารนี้เป็นแค่บันทึกการประชุมหรือบันทึกการแสดงความเห็นของกรรมการ แต่ไม่ใช่มติ โดยหน้าปกเอกสารระบุชัดเจนว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง จึงไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง และการประชุมในวันนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในขั้นตอนถัดมา ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้ระบุไว้   

  นายธนกร กล่าวว่า ที่ถูกต้องควรไปพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่มาของนายกฯ และฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตีความกันไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมาย  นายกฯ เคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและไม่อยู่เหนือกฎหมาย จึงขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักการและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้และไม่เกิดความวุ่นวาย     ขณะที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (กรธ.)ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องปมปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการตีความการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยากแสดงความเห็น เพราะควรเป็นเรื่องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดีที่สุด หากพูดไปก็จะต่อความยาวสาวความยืด เพราะตอนนี้ก็วางมือไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรแล้ว    

 เมื่อถามถึงกรณีมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมของกรธ.ที่มีการแสดงความเห็นของนายสุพจน์ ระบุตอนหนึ่งในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เรื่องการนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่บอกไว้ว่าการนับดังกล่าวให้นับรวมถึงการเป็นนายกฯ ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย นายสุพจน์ กล่าวว่า บันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นเอกสารเปิดเผยไม่ใช่บันทึกลับอะไร มีการเก็บไว้ในสถานที่ต่างๆ เช่นห้องสมุดรัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเห็นดังกล่าวของตนก็เป็นแค่การพูดคุยปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการของกรธ.ตอนนั้น และในความเป็นจริงมีการพูดกันหลายคน แต่มีคนไปจับประเด็นที่บางกลุ่มต้องการ มีการไปดึงโค้ดคำพูดที่เขาต้องการให้มาเป็นประเด็นในตอนนี้เท่านั้นเอง       ขอย้ำว่าบันทึกดังกล่าวไม่ใช่มติ เป็นการหารือทั่วไปของกรธ. และไม่ได้คุยกันแค่สองคน ระหว่างผมกับประธาน กรธ. แต่คุยประเด็นนี้กันหลายคนในกรธ. 21 คน เป็นลักษณะการคุยกันทั่วไป แต่ที่มีการบันทึกไว้ในรายงานเป็นเอกสารดังกล่าว ก็เพราะตำแหน่งของผมเป็นรองประธาน กับประธานเท่านั้นเอง ซึ่งตอนที่คุยก็มีความเห็นกันหลายหลายและตอนนี้อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว อยากให้เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดจะดีกว่า     

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร(ฉบับที่)พ.ศ. ในวันเดียวนี้ ว่า พรรคเพื่อไทยประกาศมาแต่ต้น และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนกฎหมายฉบับหาร 500 ซึ่งมันขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการวิธีการทุกอย่าง โดยมีบุคคลภายนอกใช้อำนาจบริหารมาก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ ย้ำว่าเรามีเจตนายับยั้งกฎหมายฉบับนี้ด้วยกลไลทุกวิธีการ ทั้งการไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม การวอล์คเอ้าท์ หรือการไม่ร่วมสังฆกรรม ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางสุดท้ายที่เรามีอยู่  

   ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีการแฉออกมาว่าพรรคเพื่อไทยมีดีลลับกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นนายกฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นการออกมาแฉที่เกินข้อเท็จจริง เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาพูดตั้งใจหวังผลเป็นการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย และทำลายความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลไลที่พรรคเพื่อไทยใช้อยู่เป็นที่ยอมรับเพื่อใช้ในการยับยั้งกฎหมายที่เสียงข้างมากเป็นเผด็จการ เมื่อเกิดการยอมรับจึงมีการปล่อยประเด็นเรื่องดีลลับออกมาทำลาย ซึ่งตนปฏิเสธว่าเราไม่มีการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคการเมืองใดๆ โดยเฉพาะการผลักดันให้พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ   

   นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน  (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า แนวทางการทำงานของแต่ละพรรคเป็นเรื่องของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งการปฏิบัติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องเป็นแนวเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ พรรคเพื่อไทยก็มาประชุมเป็นธรรมชาติตามปกติ แต่วันนี้อาจจะมีส.ส.ลาประชุมกันมาก เพราะตรงกับวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่ทุกพรรคที่มีส.ส.เขต ทำให้ผู้ประชุมอาจจะไม่หนาตา ในส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนมาตลอดว่าสูตรหาร 100 เป็นระบบที่มีปัญหาน้อยที่สุด     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาตามปกติ ขณะนี้ส.ส.ของพรรคได้มาลงชื่อเพื่อเข้าร่วมประชุมแล้ว และจะโหวตไปตามขั้นตอนกระบวนการ หากไปถึงวาระ 3 ก็จะเห็นชอบ เพราะควรจะเป็นไปตามนั้น ส่วนขั้นตอนกระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ      

 ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงว่า ตนฟันธงว่าการประชุมร่วมรัฐสภาล่มแน่นอน อาจจะล่มตั้งแต่เช้าหรือล่มกลางทางทำให้ร่างกฎหมายทั้งฉบับแท้งไป ส่งผลให้ต้องกลับไปเอาร่างของรัฐบาลที่ใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 แต่กรณีถ้าครบองค์ประชุม เป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้ผ่านร่างกฎหมายลูกผ่านวาระ 2 แต่ผลสุดท้ายจะถูกคว่ำในวาระ 3 เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 364 เสียง  ซึ่งกรณีคว่ำในวาระ 3 จะทำให้แท้งทั้งแบบหาร 100 และ 500 ส่วนอีกแนวทางคือที่ประชุมโหวตผ่านทั้งวาระ 2 และ 3 ซึ่งท้ายที่สุดเรื่องจะถูกส่งศาลรัฐธรรมนูญว่าหาร 500 ผิดหรือไม่     สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่จะมีการพิจารณาตามลำดับ โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม  ซึ่งเมื่อถึงเวลานัดประชุม 09.00 น. มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเข้าร่วมประชุมจำนวน 147 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 78 คน และส.ส. 69 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 727 คน      กระทั่งเวลา 09.46 น. มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเข้าร่วมประชุมจำนวน 368 คน ถือว่าครบองค์ประชุม นายชวนประธานในที่ประชุมได้สั่งเปิดการประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมว่าในวันนี้มีสมาชิกรัฐสภาลาพิเศษจำนวน 32 คน ลาเพราะติดเชื้อโควิด 4 คน และลาที่ไม่ได้เจ็บป่วย 28 คน จึงแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอขอบคุณสมาชิก ที่กรุณามาประชุม อย่างน้อยร่างกฎหมายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งเหลืออยู่ 5 มาตรา จะได้ผ่านไปได้     

 จากนั้น ที่ประชุมได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....ในมาตรา  8 ต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ภายหลังลงมติมาตรา 8 เรียบร้อยแล้ว นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ลุกขึ้นเสนอประธานที่ประชุม เพื่อขอให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขึ้นมาพิจารณาแทรกร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....ก่อนชั่วคราว ทั้งนี้ นายชวน  แจ้งว่า เรากำลังดำเนินการไปตามลำดับของมาตรา มันไม่มีอะไรต้องเข้ามาแทรก จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ... ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตัง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... วาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 24/1  ซึ่งกรรมาธิการฯ (กมธ.) ได้เพิ่มขึ้นใหม่ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ       

ทั้งนี้ กมธ. เสียงข้างน้อยได้อภิปรายโต้แย้ง อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ. ,นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กมธ., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติมเนื้อหา เพราะมองว่าเป็นบทบัญญัติที่เขียนขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 ซึ่งแก้ไขมาตรา 83 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง , มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และมาตรา 92 ว่าด้วยการคำนวณส.ส.ในกรณี ที่เขตเลือกตั้งนั้นคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส. (โหวตโน) ชนะผู้สมัครส.ส.เขต และอาจจะขัดต่อหลักการของการเสนอร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งที่เสนอให้รัฐสภารับหลักการ โดย นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำว่า มาตราที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอต่อที่ประชุมสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวมองว่ายิ่งกว่าสุ่มเสี่ยง     นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.เสียงข้างมาก ยืนยันว่าการเพิ่มมาตราดังกล่าวทำงานด้วยความรอบคอบ และเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์มากที่สุด เพราะการเขียนกฎหมายที่สอดคล้องกับการลงมติไปแล้วต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย รวมถึงความสอดคล้องของรัฐธรรมนูญ  และคำนึงถึงการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติให้กับกกต. ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งมีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งเนื้อหาที่ปรับเพิ่มใหม่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เพราะนำคะแนนของพรรคการเมืองที่ได้รวบรวมกันทั้งประเทศ และเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สัมพันธ์ เพราะใช้จำนวน 500 คน ส่วนที่สมาชิกบอกว่ากกต.จะปฏิบัติไม่ได้ และมีความเห็นแย้ง ควรรอให้กกต.ทำความเห็นมายังสภา หรือมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ควรรอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ    

 จากนั้น นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงนายสมชัยและขอคำอธิบายที่ระบุว่า การเลือกตั้งที่พรรคไหนได้เขตเยอะ จะได้บัญชีรายชื่อน้อย เป็นธรรมชาติ หรือหากประชาชนที่ชอบพรรคการเมือง ลงคะแนนเลือกตั้ง 10 ล้านเสียง แต่ไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ความยุติธรรม ความสมบูรณ์ร่างพ.ร.ป. นี้มีจริงหรือไม่     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำให้บรรยายกาศช่วงดังกล่าวเป็นไปด้วยความสับสน เมื่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ไม่อนุญาตให้ซักถามและอธิบาย รวมถึงจะขอปิดการอภิปราย จนเกิดการประท้วงพาดพิงระหว่าง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กับนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่มีการปะทะคารมจนต้องขอให้ถอนคำพาดพิงและคำที่ไม่เหมาะสม     หลังจากนั้น เวลา 13.35 น. นายพรเพชร ได้ขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนที่จะลงมติ โดยกดสัญญาณเรียกสมาชิกเข้ามาลงมติ แต่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ส่องกล้องไปดูการลงมติอาจจะมีการเสียบบัตรแทนกั