จังหวัดระยองเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ติดกับทะเล มีชายหาดทรายขาวทอดยาว เกาะแก่งต่างๆทัศนียภาพธรรมชาติสวยงามที่ทำให้นักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชม หนึ่งในนั้นยังมี เกาะมันใน ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ต่อมาทางทช.ได้ดำเนินการ โครงการอนุรักษ์พันธ์เต่าทะเล ในพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2518 พระองค์ได้พระราชทานเกาะนี้ให้กรมประมง และมีพระราชประสงค์เพื่อให้อนุรักษ์เต่าทะเลโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลอยู่

ซึ่งบนเกาะมันในนี้เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก” ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล โดยจะมี อาคารพิพิธภัณฑ์เต่าทะเล จัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเลให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบกันมีตัวอาคาร ซึ่งเป็น บ่ออนุบาลเต่า ที่เป็นบ่อคอนกรีตใช้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ลูกเต่าตัวน้อย ไล่ไปถึงบ่อของเต่าวัยเจริญพันธุ์ เต่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตัวใหญ่หลายขนาด อายุนับสิบปีหลากสายพันธุ์จัดแสดงให้ชมกัน

และในปัจจุบันสถานที่สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเต่าทะเลบนเกาะมีสภาพทรุดโทรม ขาดการพัฒนา ดังนั้นทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงได้อนุมัติปรับปรุงพัฒนาทั้งหมดทั้งระบบอาคารบ่ออนุบาล โรงเรือนอาคารที่ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว หรือจัดสัมมนาอบรม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบ น้ำประปา ไฟฟ้า แสงสว่างโซล่าเซลล์ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้อนุมัติงบหลายล้านบาทเข้ามาปรับปรุงทั้งหมด 

นายโสภณ ทองดี อธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่าทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาหมู่เกะมันใน ในพื้นที่จังหวัดระยอง จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดงบประมาณพัฒนาบนเกาะมันในเพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล วงเงินรวม 1,013,614,000บาท ระยะที่ 1 วงเงิน 199,671,000 บาท ระยะที่ 2 วงเงิน 198,843,000 บาท ระยะที่ 3 วงเงิน 194,600,000 บาท และระยะที่ 4 วงเงิน 420,500,000 บาท ซึ่งจะพัฒนาปรับปรุงอาคารสำนักงาน อาคารวิจัยเต่า และอาคารวิจัยปะการัง ห้องเรียนรู้และลานกิจกรรม บ้านพักเจ้าหน้าที่ เส้นทางการศึกษาธรรมชาติและภูมิทัศน์ ระบบการประปาและไฟฟ้า ทั้งหมดบนเกาะมันใน จะเห็นได้ว่าการพัฒนาบนเกาะมันในเป็นการฟื้นฟูทั้งระบบเพื่อให้ทันสมัยและสร้างเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของภาคตะวันออกส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ให้ความรู้ระบบนิเวศทางทะเล การช่วยเหลือสัตว์น้ำทะเลที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีบุคลากร เช่นสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ ทช.จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตะวันออก ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำบนเกาะมันในอีกด้วย