ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

การประชุมเอเปค (APEC) ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น จะมีความสำคัญต่อชื่อเสียง ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะ APEC แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ เพื่อส่งเสริม #การค้า #การลงทุน #การท่องเที่ยว และความร่วมมือในมิติด้านอื่นๆ ทั้งการ #พัฒนาทางด้านสังคม #การพัฒนาด้านการเกษตร #การร่วมมือป้องกันและช่วยเหลือกันและกัน ยามประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติทุกรูปแบบ การร่วมมือกัน #สนับสนุนบทบาทของสตรี และ #ลดการกดขี่ทางเพศ และการร่วมมือแลกเปลี่ยนกันและกันทางการ #พัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น (ขอเสริมเกร็ดความรู้เล็ก ๆ นะครับว่า APEC นี้มีมา 33 ปีแล้วนะครับ กำเนิดเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532)

ปัจจุบัน APEC มีสมาชิกถึง 21 เขตเศรษฐกิจได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี บรูไน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู และ ชิลี ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีประชากรรวมกันถึง 2.8 พันล้านคน มีรายได้ประชาชาติ (GDP) รวมกันมากกว่า 59% ของGDP ของโลก สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกAPEC มีสูงถึง 69.8% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ไทยมีกับทุกประเทศทั่วโลก

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การประชุมดังกล่าวยึดหลักฉันทามติ (Consensus) ความหมายคือ ทุกข้อตกลงต้องทำด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับใคร ทุกเขตเศรษฐกิจมีความเท่าเทียมกันหมด โดยมุ่งเปิดกว้างเสรีทางการค้าการลงทุนให้มากขึ้น มีอุปสรรคให้น้อยลง (เช่น ช่วยให้การแซงชั่น (Sanction) ด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองจะได้มีน้อยลง) ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็แล้วแต่จะตกลงกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือ #ห้ามหยิบยกประเด็นทางการเมืองขึ้นมาพูดในที่ประชุมอย่างเด็ดขาด

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จึงเหมาะเป็นประธานการประชุม APEC

อดีตนายกฯจากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ เคยกล่าวเตือนสติ นายกฯ รุ่นน้องจากพรรคเดียวกันคือ นายบอริส จอห์นสัน ว่า “ผู้นำทางการเมืองที่ประชาชนขาดความเคารพนับถือในบ้าน จะมีอิทธิพลสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีนอกบ้านได้อย่างไร” (สามารถอ่านข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในบทความของผม หัวข้อ “เรียนรู้จากอังกฤษ : ไม่ยกย่องคนที่ไม่สมควรยกย่อง” ที่ https://www.facebook.com/TrairongSuwankiri/posts/pfbid02kFsnrXucY1awn9HT...)

สำหรับผู้นำของรัฐบาลไทยคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ถ้าไม่มีอคติกันในทางการเมืองแล้ว จะเห็นว่าท่านได้รับความเชื่อถือจากนานาประเทศด้วยเหตุผลหลายอย่างคือ

1) การชุมนุมทางการเมืองเพื่อคัดค้าน พ.ร.ก. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในปี 2556 - 2557 นั้น ผู้มิได้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์จะไม่มีทางทราบว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันทั้งสองฝ่าย ได้เตรียมอาวุธร้ายเพียงใดเพื่อจะเข่นฆ่ากันและกัน (ทั้งๆ ที่ผู้นำการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่รู้ก็ได้)

การตัดสินใจทำการ #รัฐประหารเพื่อระงับความรุนแรงที่อาจจะนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ในปี พ.ศ.2557 นั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสมเหตุสมผล แม้เป็นการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการใช้อาวุธ เข้าบังคับมิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี แต่ต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจดี โดยเฉพาะ เพราะเขาเคยเห็นความป่าเถื่อนในการบุกทำลายการประชุม ผู้นำของอาเซียนที่พัทยาเมื่อปี พ.ศ.2552

เมื่อผมไปประชุมกับผู้นำ 47 ประเทศที่กรุงวอชิงตันตามคำเชิญ ของประธานาธิบดีโอบามา (OBAMA) ในปี พ.ศ. 2553 (ขณะที่พวกเสื้อแดงกำลังยึดสี่แยกราชประสงค์และประตูน้ำเอาไว้) ผู้นำประเทศต่างๆ หลายประเทศได้แสดงความห่วงใย (Concern) ต่อการชุมนุมที่ค่อนข้างจะรุนแรงในประเทศไทย ที่น่าแปลกใจตรงที่ท่านเหล่านั้นบอกผมว่า พวกท่านรู้ด้วยว่าใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรงทั้งหลาย ตั้งแต่ที่พัทยา (พ.ศ. 2552) จนถึงการชุมนุมในปี พ.ศ. 2553

แม้แต่ท่านประธานาธิบดีโอบามาเอง ได้พูดกับผมถึงความห่วงใย และแสดงความเห็นใจต่อ นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของประเทศไทย ที่ต้องเจอวิกฤตการณ์เช่นนั้น จนไม่สามารถมาประชุมกับ 47 ประเทศในหัวข้อเรื่อง “การหยุดการแพร่ขยายการใช้ปรมาณูเป็นอาวุธ (Nuclear Security Summit) ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหารนำโดย พล.อ.ประยุทธฯ จึงเห็นได้ว่า ไม่มีใคร(ต่างประเทศ) ออกมาประณามอย่างจริงจัง เหมือนที่พวกเขากระทำต่อประเทศเมียนมา เมื่อมีการรัฐประหารโดยท่านนายพล มิน อ่อง ลาย

2) ปัจจุบัน ท่านพล.อ.ประยุทธ์ #เป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 (แม้จะนับเฉพาะเสียง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งก็มากกว่า 50% ถูกต้องตามหลักสากลของประชาธิปไตย) นักการเมืองบางฝ่ายอาจจะประณามว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหาร เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญมิได้เขียนให้รัฐธรรมนูญของไทย เป็นเหมือนของประเทศอังกฤษ แต่ที่ผมเคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดของสหรัฐฯและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ศาสตราจารย์ ที่สอนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างก็สอนเหมือนกันว่า ระบบการเมืองการปกครองของประเทศไดก็ต้องเขียนให้คล้องจองกับบริบทของประเทศนั้น เหมือนอย่าง นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตนายกฯของเยอรมัน เคยพูดไว้ว่า “สหรัฐอเมริกาจะเอามาตรฐานของระบบการเมืองของตนเองไปบอกว่าดีกว่าระบบการเมืองของประเทศจีน ย่อมไม่ได้เพราะบริบทหลายอย่างแตกต่างกัน” (ผมว่าคุณ Nancy Pelosi น่าจะฟังเอาไว้บ้างนะครับ)

3 )ตลอดระยะเวลา 8 ปี ทั้งในฐานะนายกฯ จากการรัฐประหารและนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เคยมีใครจะมาสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตของ พล.อ.ประยุทธได้เลย #ไม่เคยโกงไม่เคยกิน เหมือนอดีตนายกฯ หลายๆ คน ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

4) ผลงานการ #สร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศในหลายๆทาง ที่ประสบความสำเร็จเห็นได้เป็นประจักษ์แก่ชาวโลก เช่น ความสามารถในการนำประเทศและประชาชนประสบความสำเร็จ ในการต่อสู้กับ COVID-19 จนได้รับการยกย่องว่า มีความสำเร็จสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก ความมั่นคงทางการเงินเป็นลำดับที่ 14 ของโลก ด้านการต่างประเทศก็แสดงบทบาทความเป็นกลางไม่เข้าข้างช่วยฝ่ายใดในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆของโลก การสามารถเปิดสัมพันธภาพทางการทูตกับซาอุดิอาระเบียได้สำเร็จสวยงาม ทั้งๆ ที่มีหลายๆ คนก่อนหน้านี้ได้พยายามกันมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ การวางพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศโดยการมีนโยบายให้มีพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่แสนจะเย้ายวนให้มาลงทุน การพัฒนาการคมนาคมระบบรางที่รุ่งเรือง มากกว่ายุคใดๆ กทม.เมืองที่สวยงามน่าอยู่กว่าเดิม การช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาโดยนโยบายการประกันรายได้(แม้จะเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์แต่ถ้านายกไม่ผลักดันด้านการเงิน โครงการก็จะเกิดผลใดๆขึ้นมาไม่ได้เลย) ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดผู้มาประชุมจะได้เห็นและประทับใจ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือผมอยากชวนให้พวกเราถอยหลังกลับมาสักหนึ่งก้าวและมองอะไร อะไร ในภาพใหญ่ครับ แน่นอนถ้าเราดูภายในประเทศของเราตอนนี้ เราจะเห็นการเมืองแบบเห็นประโยชน์ของพรรคฯ มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ ทำให้มีการด่าทอ สาปแช่ง หยาบคาย อย่างที่พวกเราได้เห็นได้ฟังในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ต่างชาติ (ส่วนใหญ่) เขาคงไม่ได้คิดเช่นที่ฝ่ายค้านคิด ผมทราบจากแหล่งเชื่อถือได้ของกระทรวงการต่างประเทศว่า จะมีผู้นำคนสำคัญๆ หลายคนยินดีจะมาประชุม APEC ในครั้งนี้ ไทยจะช่วยให้โลกคลายความตึงเครียดลง ลองปิดตาเห็นภาพว่า ถ้าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน งานคงจะกร่อยผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจะหายไปขนาดไหน

#หมายเหตุ ผมเองยังมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงได้เป็นประธานการประชุมเอเปค (APEC) อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่อยากเถียงกับ #พวกศรีธนญชัยในหมู่นักกฎหมายกำมะลอ ครับ

#รูปประกอบไม่สะท้อนถึงเนื้อหาทั้งหมด นะครับ เป็นภาพจากปี 2553 ที่ผมต้องไปร่วมการประชุมกับ 47 ประเทศในหัวข้อเรื่อง “การหยุดการแพร่ขยายการใช้ปรมาณูเป็นอาวุธ (Nuclear Security Summit) แทนท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครับ

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊กเป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด