"จิรายุ-นฤนันมนต์" พา "ชัชชาติ"  ดูคนชานเมืองที่คลองสามวาหลังประชากรพุ่งเกือบ 3 แสน ชี้ 3 ปีมานี้รถติดหนัก ขอเร่งแก้ไขด่วนขณะที่ 5 ปีที่ผ่านมาแผนพัฒนา กทม. โอ๋ แต่คนกรุงชั้นใน เหตุทำงบแบบหารเท่ากัน 50 เขต 

วันที่ 6 ส.ค.65 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย  และ น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.คลองสามวา  และโฆษกสภา.กทม. กล่าวว่าวันนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่ผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงมาดูปัญหาของประชาชนในเขตคลองสามวา ซึ่งวันนี้ประชากรในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นโดยพื้นที่เขตคลองสามวา ตั้งแต่ถนนรามอินนทรา, คู้บอน, หทัยราษฎร์, นิมิตใหม่, เลียบคลองสอง, ประชาร่วมใจ และถนนปัญญารามอินทรา มีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 250,000 คน ไม่นับรวมประชากรแฝงอีกหลายหมื่นคน และมีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยทางกายภาพของพื้นที่กลับไม่มีบริการสาธารณะซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้ในแต่ละวันมีการจราจรติดขัดอย่างหนัก ยิ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากในพื้นเขตคลองสามวามีแยกใหญ่ กว่า 5 แห่งแต่ไม่มีสะพานลอยข้ามแยกแม้แต่จุดเดียว  

นายจิรายุ กล่าวว่า ตนได้อภิปรายในรัฐสภาตั้งแต่ ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 5 ครั้ง เรียกร้องให้ กทม. ดำเนินการแก้ไข แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ อาจเป็นเพราะ สก.ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เลยไม่ค่อยใกล้ชิดกับประชาชนแถมผู้ว่า กทม.ก็มาจาก ม.44 ของ คสช. กทม.เลยเสียโอกาสไปกว่า5 ปี ขณะที่กรุงเทพชั้นในที่มีประชากรน้อยแค่หลักหมื่นกลับได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งทำอุโมงค์ข้ามแยกสะพานข้ามแยก ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนกรุงเทพคลองสามวากว่า 3 แสนคนที่เสียภาษีให้รัฐบาล และ กทม.เหมือนกัน 

วันนี้ตนและ สก. จึงเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่า ฯกทม. มาดูในจุดที่มีปัญหาอย่างหนัก ที่แยกพระยาสุเรนทร์ตัดถนนปัญญาและถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง ซึ่งเพราะเป็น 5 แยกโดยเมื่อปี 2562 คุณชัชชาติ เคยมาขึ้นกระเช้ากับตนดูปัญหาการจราจร วันนี้ตนจึงขอให้คุณชัชชาติ ในฐานะผู้ว่า กทม. ได้โปรดให้ความสำคัญชานเมืองด้วยการพิจารณาจัดทำสะพานข้ามแยก ซึ่งจะลดการติดขัดได้มาก ซึ่งในพื้นที่เขตคลองสามวา มีทั้งหมด 4 จุดใหญ่ที่จำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งอาจทยอยทำในแต่ละปีงบประมาณได้ ซึ่งคนที่นี้ เรียกร้องมาตลอดว่า ชานเมืองไม่ใช่ชนบท สิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียม 

ด้าน น.ส.นฤนันมนต์  กล่าวต่อไปว่าในพื้นที่มีสภาพปัญหา ที่หมักหมม มานานทั้งในหลักการจัดสรรงบประมาณที่กลับใช้วิธีหารเท่ากันทุกเขต 50 เขต ทั้งๆที่เขตชั้นในมีพื้นที่เล็กประชากรน้อยแค่ 3-4 หมื่น แต่กลับได้งบประมาณใกล้เคียงกับเขตที่มีประชากรกว่า 2.5 แสน ที่ผ่านมาก็เลยเห็น กทม.ชั้นในเดี๋ยวเปลี่ยนต้นไม้เกาะกลาง  เดี๋ยวเปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นประจำ นอกจากนี้การออกแบบถนนการวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับ ประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็ทำอย่างไม่เป็นรูปธรรม โดยตนขอเสนอให้ผู้ว่าราชการได้พิจารณาดังนี้

1.) ถนนหทัยราษฎร์มี เพียง 2 เลน การจราจรหนาแน่น แต่กลับมีเกาะกลางถนนใหญ่เกินความจำเป็น ทำให้รถจอดข้างทางเพียง 1 คันก็จะเสียเลนในการสัญจรไป-มา โดยมีข้อเสนอแนะให้ลดขนาดเกาะกลางถนนและเพิ่มเลนถนน อีกทั้งจัดทำสะพานข้ามแยกบริเวณแยกหทัยมิตร เนื่องจากสี่แยกเป็นมุมทแยงทำให้รถติดขัดสะสม ก็จะลดปริมาณการติดขัดจาก 6 แยกจะเหลือเพียง3 แยกเท่านั้น

2.) บริเวณห้าแยกลำกะโหลก ซึ่งผู้ว่าราชการเคยมาดูสภาพการจราจร เนื่องจากมีหมู่บ้านภายในซอยเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก  โดยมีข้อเสนอแนะ และ แนวทางแก้ไข : จัดทำสะพานเหล็กข้ามแยกบนถนนพระยาสุเรนทร์ข้ามแยกลำกะโหลกเพิ่งจะลดการจราจรจากห้าแยกเหลือเพียงสามแยกได้

3.) ขยายถนนพระยาสุเรนทร์ช่วงแยกตัดคู้บอนมุ่งหน้าวัดพยาสุเรนทร์ ซึ่งเป็นเลนสวนมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการขยายถนน ทั้งๆที่เป็นทางระบายรถไปเชื่อมต่อกับวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งสามารถไปขึ้นทางด่วนรามอินทราอาจณรงค์ได้

4.) บริเวณถนนนิมิตใหม่รถจำนวนมาก จากลำลูกกา มุ่งหน้ามีนบุรี บริเวณสามแยกนิมิตใหม่ตัดหทัยมิตรและสามแยกถนนสุดใจ ซึ่งเป็นสี่แยกที่มีความทแยง ทำให้รถติดสะสม หากมีทางสะพานข้ามแยกดังกล่าวก็จะทำให้การจราจรคล่องตัวในทุกช่วงเวลา    ซึ่งทั้งหมดนี้ ตนและ ส.ส. พื้นที่ จะนำเสนอในที่ประชุม รัฐสภา และ สภา กทม. อีกครั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคผู้ว่า “ชัชชาติ” ผู้ว่าของประชาชนคน กรุงเทพต่อไป