ไทยร่วมประชุมนานาชาติด้านการปราบปรามยาเสพติด (International Drug Enforcement Conference : IDEC) จับมือ 21 ประเทศ เฝ้าระวังปัญหาลักลอบนำยารักษาโรคมาใช้อย่างผิดกฎหมาย พร้อมชูมาตรการยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด

วันที่ 3 ส.ค.ที่ ป.ป.ส.นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดเป้าหมายการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานประจำภูมิภาคตะวันออกไกล (Far East Regional Working Group Targeting Workshop) ภายใต้การประชุมนานาชาติด้านการปราบปรามยาเสพติด (International Drug Enforcement Conference หรือ IDEC) พร้อมด้วยพล.ต.ต.วิวัฒน์ ลีลาเขตต์ ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยมี นายจอห์น พี. สก็อตต์ (Mr. John P. Scott) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกไกล สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้าภาพเป็นประธานเปิดการประชุม และพลตำรวจเอก ปีตรัส อาร์. โกโลส (Police General Petrus R. Golose) เลขาธิการคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจาก 21 ประเทศ ในระหว่างวันที่ 2 - 3 สิงหาคม 2565  ณ จังหวัดบาลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 

นายวิชัย  กล่าวว่า “สำหรับการประชุม IDEC สำนักงานปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการปราบปรามยาเสพติดในคดีต่าง ๆ ที่สำคัญ ของนานาชาติ โดยเฉพาะการหารือในประเด็นเป้าหมายการสืบสวนเครือข่ายการค้ายาเสพติดของแต่ละประเทศ ทั้งในเรื่องการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ การต่อต้านองค์กร/เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ  การฟอกเงิน และยังเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ จากนานาประเทศ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิด/มาตรการการสกัดกั้นยาเสพติดระหว่างชาติพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกไกล (Far East Regional) เพื่อให้สามารถจัดการกับเครือข่ายการค้ายาเสพติดข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดล่าสุด 
สำหรับปี พ.ศ. 2565 ประเด็นการประชุมที่น่าสนใจ เป็นการเฝ้าระวังบุคคลหรือองค์กรที่ต้องสงสัยการนำยาหรือสารตั้งต้นต่างๆ มาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งได้มี การพูดคุยกันถึงมาตรการและความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด ทั้งจากแหล่งผลิต และการควบคุม การเบี่ยงเบนยา (drug diversion) เช่น การนำ สารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ ที่มาจากภาคอุตสาหกรรม/การแพทย์/การเกษตร มาเปลี่ยนแปลงใช้ในการผลิตยาเสพติด โดยการเบี่ยงเบนยา ถือเป็นปัญหาสำคัญของปัญหาที่ทำให้มีสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ เข้าสู่แหล่งผลิตในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นความท้าทายที่ชาติผู้เข้าร่วมประชุม เห็นพ้องในการสร้างแนวทางมาตรการเพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าว การประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานยาเสพติดในภูมิภาคตะวันออกไกล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป”


นายวิชัย  กล่าวอีกว่า “ในฐานะผู้แทนไทย ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการสืบสวนสอบสวนการค้ายาเสพติดภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยและโครงการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ทางท่าอากาศยาน (ASEAN Airport Interdiction Task Force : AITF) และทางทะเล (ASEAN Seaport Interdiction Task Force : SITF) ที่จะร่วมกันสืบสวนถึงต้นตอของขบวนค้ายาเสพติดและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่มาตรการยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ได้มีการบังคับใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และตามนโยบายเรื่องยาเสพติดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยที่ผ่านมา รูปแบบการปราบปรามยาเสพติดส่วนใหญ่ของไทยเน้นการจับของกลางยาเสพติด แต่ผู้ค้ายาเสพติดยังมีทุนในการผลิตยาอยู่ การยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติดจะทำให้สามารถทำลายวงจรการค้ายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

 

นายวิชัย  เข้าพบ เลขาธิการคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งทางอินโดนีเซีย มีความประสงค์ที่จะต่อยอดความร่วมมือหลังจากบันทึกตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการใช้ยาในทางที่ผิด เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยเสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ และยังให้ความสนใจในการปลดกัญชาออกจายาเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการวิจัย การแพทย์ และอุตสาหกรรมของประเทศไทย และ มีความยินดีในการยกระดับความสัมพันธ์ โดยได้เชิญทางอินโดนีเซีย ศึกษาดูงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมายังประเทศไทยในอนาคต