“ประดิษฐ์” เปิดใจซบ “ภท.” ลั่นพร้อมหนุนลูก“เสธ.หนั่น”เป็นส.ส.พิจิตร  “ซูเปอร์โพล”เผยผลสำรวจ เลือกตั้งวันนี้ "เพื่อไทย”ชนะ ขณะที่ "ลุงตู่" ยังครองใจปชช.  "เพื่อไทย" จ่อยื่นปปช.สอย "ส.ส.-ส.ว." โหวตสูตรหาร 500 ชี้จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญร้ายแรง ขณะที่ “โจ้”เผยกองทัพอากาศเตรียมยื่นอุทธรณ์ขอซื้อ F-35A ต่อกมธ.งบชุดใหญ่  แฉมี “ลุง”อาศัยในป่าล็อบบี้กมธ.ฟากรัฐบาลช่วยโหวต

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.65 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรมช.คลัง และส.ส.พิจิตร 4 สมัย ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่มาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ว่า คาดเดาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พรรคภูมิใจไทยน่าจะมีส่วนร่วมเข้าไปบริหารประเทศได้อีก จากนโยบายของพรรคที่ทำได้จริง ซึ่งมีเพียงไม่กี่พรรคที่ทำได้ อะไรที่สัญญาไว้กับชาวบ้านแล้วทำได้ คนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ ถ้าทำไม้ได้จะเสียเครดิตและเสียหายในระยะยาว ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำจริง ทำได้ และทำดี 

 “การเลือกตั้งครั้งหน้าใครก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ของผม พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะประสบความสำเร็จได้น้อย ผมก็ผ่านมาแล้ว จึงคิดว่าพรรคภูมิใจไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมา 10 กว่าปี คิดว่าเป็นพรรคที่ชาวพิจิตรน่าจะเลือกให้มาพัฒนาบ้านเมืองได้” นายประดิษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าจะชนะทั้ง 3 เขต นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทุกพรรคและผู้สมัครทุกเขต จะมีความมั่นใจทุกคน แต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรต้องดูกัน สำหรับสองตระกูลคือ ภัทรประสิทธิ์กับขจรประศาสน์ ถ้านับตั้งแต่ปี 18 ถึงวันนี้เกือบ 50 ปี เห็นได้ว่าทั้งสองตระกูลรับใช้คนพิจิตรมายาวนาน ตนกับพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มีความเคารพเหมือนพ่อลูกกัน ซึ่งในเขต 3 ที่ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชายพล.ต.สนั่นจะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นโอกาสที่ตนจะได้ตอบแทนบุญคุณพล.ต.สนั่น ซึ่งตนพร้อมช่วยสนับสนุนนายศิริวัฒน์มาเป็นส.ส.พิจิตรอีกครั้ง โดยเราจะทำงานเต็มที่และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

“ผมทำงานการเมืองมา 20 กว่าปี ครั้งนี้ขอช่วยเหลือน้องกับหลาน และตอบแทนบุญคุณพล.ต.สนั่น ส่วนตำแหน่งทางการเมืองหลังจากนี้ ผมพอแล้ว อายุจะ 70 แล้ว ขอช่วยหลานช่วยน้องเท่านั้น” นายประดิษฐ์กล่าว
 
   ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน  ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.65 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ค.65 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 69.28 ระบุว่า ไม่ได้ติดตามเลย รองลงมา ร้อยละ 18.98 ระบุว่า ติดตามบ้างเล็กน้อย ร้อยละ 9.00 ระบุว่า ติดตามเป็นระยะๆ และร้อยละ 2.74 ระบุว่า ติดตามตลอดเวลา เมื่อถามผู้ที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (จำนวน 403 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับข้อมูลของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในภาพรวม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.43 ระบุว่า ชัดเจนมาก รองลงมา ร้อยละ 34.25 ระบุว่า ค่อนข้างชัดเจน ร้อยละ 15.63 ระบุว่า ไม่ค่อยชัดเจน และร้อยละ 7.69 ระบุว่า ไม่ชัดเจนเลย  

ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (จำนวน 403 หน่วยตัวอย่าง) ถึงความชัดเจนในการตอบคำถามของฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ร้อยละ 75.68 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 21.34 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ร้อยละ 44 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 15.63 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน และร้อยละ 8.93 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม

3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข  ร้อยละ 57.07 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 25.56 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน และร้อยละ 17.37 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ร้อยละ 52.36 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 30.02 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 17.62 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร้อยละ 45.16 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 37.47 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 17.37 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน

6.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ร้อยละ 47.64 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 37.97 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 14.39 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน 7.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 44.91 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 40.94 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 14.15 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน 8.นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 44.42 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 40.69 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 14.89 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน

9.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คลัง ร้อยละ 44.91 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 41.69 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 13.40 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน 10.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย) ร้อยละ 44.66 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม รองลงมา ร้อยละ 42.93 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน และร้อยละ 12.41 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน  11.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน) ร้อยละ 42.43 ระบุว่า ตอบไม่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 41.44 ระบุว่า ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 16.13 ระบุว่า ตอบได้ชัดเจน

ขณะที่ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง พรรคการเมืองไหน ยอดนิยม จำนวน 1,137 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25–30 ก.ค.65 ที่ผ่านมา ผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 26.9 จี้ติดตามมาไม่ห่างกันนักคือร้อยละ 22.3 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ อันดับสามคือพรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 14.2 อันดับสี่คือ พรรคก้าวไกล ได้ร้อยละ 6.9 เบียดกันมากับพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 6.8 ส่วนพรรคอื่นๆ กระจายกันไปคือ พรรคเสรีรวมไทยได้ร้อยละ 2.4 พรรคกล้าร้อยละ 2.4 พรรคชาติไทยพัฒนาได้ร้อยละ 2.3 พรรคไทยสร้างไทยได้ร้อยละ 1.9 พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ร้อยละ 1.6 พรรคไทยภักดีได้ร้อยละ 1.4 ที่น่าสังเกตคือ พรรครวมไทยสร้างชาติได้เพียงร้อยละ 0.4 และพรรคเศรษฐกิจไทย ได้เพียงร้อยละ 0.3 ที่เหลือร้อยละ 10.2 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่เลือกพรรคไหนเลย และพรรคไหนก็เหมือนกัน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคืออันดับนักการเมืองระดับคู่แข่งนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนชอบอันดับแรก ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 26.2 อันดับสอง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ร้อยละ 19.6 อันดับสามได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 14.4 อันดับสี่ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 7.0 อันดับห้าได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 4.7 อันดับหก ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 4.2 อันดับเจ็ด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 3.5 อันดับแปด ได้แก่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ร้อยละ 3.0 อันดับเก้า นายวราวุธ ศิลปอาชา ร้อยละ 2.8 และสุดท้ายร้อยละ 14.6 ระบุอื่น ๆ เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายอุตตม สาวนายน และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ตามลำดับ
   
   วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า วันที่ 1 ส.ค.65 เวลา 10.00 น. ศรีสุวรรณจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ณ ศูนย์ราชการฯ อาคาร B เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดนักการเมืองหลายคนที่กินกล้วย ซึ่งควรถูกอัปเปหิ(Appehi) ไปเสียจากสังคมการเมืองของไทย ตาม พรป.พรรคการเมือง 2561 มาตรา 28 ประกอบมาตรา 92(3)

อนึ่ง พรป.พรรคการเมื่อง พ.ศ.๒๕๖๑ บัญญัติว่า มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา ๙๒ เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น  (๓) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการ ตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา  กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.  วาระสองต่อเนื่อง ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่คาดว่าจะพิจารณาต่อได้ในวันที่ 3 ส.ค. ว่า ใน 2 มาตราที่กมธ. ได้ปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้จำนว 500 คนหาค่าเฉลี่ยส.ส.พึงมี แทน จำนวณ 100 คน นั้น ในส่วนของส.ส.พรคเพื่อไทย จะงดออกเสียง เนื่องจากว่าการแก้ไขดังกล่าวพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดีพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะร่วมประชุมเพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา และสามารถลงมติในวาระสามได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการพิจารณาของรัฐสภาจะไม่เกินกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างคำร้องที่จะส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณากรณีที่สมาชิกรัฐสภาจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ในมาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณส.ส. เพราะก่อนหน้านั้นมีกระบวนการที่ทำให้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีพฤติกรรมที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงาน และทำให้ระบบการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาฯ ไม่เป็นไปตามระบบ

“หลังจากที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โหวตวาระสามแล้ว พรรคเพื่อไทยจะจัดประชุมส.ส. และจะขอให้ส.ส.ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อส่งคำร้องไปยังป.ป.ช. ให้พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ช้า ส่วนกรณีที่จะวางใจให้ป.ป.ช. ตรวจสอบหรือไต่สวนเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเสียงของป.ป.ช.คงไม่เหนือไปกว่าเสียงของประชาชน” นายสมคิด กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการที่เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนของพรรคเพื่อไทยจะแยกดำเนินการ และไม่รวมกับของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่แสดงเจตนาจะยื่น แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังรอความชัดเจนว่าหลังจากที่รัฐสภาลงมติวาระสามแล้ว จะส่งเรื่องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงองค์กรเดียว หรือส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย 

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานอนุกมธ. แถลงว่า ปี 66 ยอดเงินที่เข้าอนุกมธ.​ ทั้งหมด 336,254 ล้านบาท ปรับลดไปทั้งสิ้น 4,093 ล้านบาท โดยในส่วนกระทรวงกลาโหมทั้งหมด 32,702 ล้านบาท ปรับลดไป 3,130 ล้านบาท โดยกองทัพบกปรับลดไป 2,000 ล้านบาท ถือว่ามากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเงินค่างวดงานที่กองทัพเบิกจ่ายไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาในการไปตรวจรับของจากต่างประเทศ และปัญหาการเดินทาง ทางกองทัพก็เลื่อนงวดงานให้เช่นกองทัพบก เป็นค่างานประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้กระทบอะไร ส่วนกองทัพเรือถูกปรับลด 200 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกองทัพไม่ได้มีการอุทธรณ์แต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กองทัพอากาศที่ถูกปรับลดไป 1 รายการ คือโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีระยะที่ 1 จำนวน 738 ล้านบาท

ซึ่งการที่กองทัพอากาศถูกปรับลดงบประมาณไป เหมือนเลื่อนมากกว่าเพราะว่าขณะนี้ยังจะต้องรอเครื่องบินรบ F-35A ซึ่งเป็นเครื่องบินบางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ล่าสุด และการอนุมัติขายขึ้นอยู่กับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ทราบว่าขั้นตอนการอนุมัติจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 เดือน ถึงจะรู้ว่าสภาคองเกรสจะขายให้กับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งไม่ช้าอยู่แล้วปี 67 ทางกองทัพเรือของบประมาณมาใหม่ก็ยังทัน ทั้งนี้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท เป็นเครื่องบินเปล่าๆ ที่ยังไม่มีอาวุธ แต่ที่กองทัพเรือตั้งไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ 2 ลำ จำนวน 738 ล้านบาท และทางเสนาธิการทหารอากาศก็เป็นคนพูดเองว่า F-35A ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เป็นการทดแทนเครื่องบิน หากไม่ผ่านงบปี 66 เสนอปีหน้าก็ยังทัน แสดงให้เห็นว่าการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า อนุกมธ.ทั้ง10 คน มีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งรัฐบาลมีมากกว่า ก็ไม่มีใครช่วยทหารอากาศสักคน ทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งงบฯปีนี้ ได้ ตั้งปีหน้าก็ยังทัน งบฯปีนี้เอาไปช่วยประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ของแพงโควิดที่กำลังแพร่ระบาดหนักอีกรอบก่อน ในวันที่ 2 ส.ค. เวลา 09.30 น. ทางกองทัพอากาศ ได้ยื่นอุทธรณ์การขอซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำต่อ กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ 

“ขณะนี้มีลุงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในป่า กำลังโทรล็อบบี้กมธ.ฝั่งรัฐบาลให้ยกมือสวน มติของอนุฯ ครุภัณฑ์ เพื่อผ่านเครื่องบินรบ F-35A ให้ ซึ่งสวนกับนโยบายนายกฯ ที่ให้เหล่าทัพจัดซื้ออาวุธเท่าที่จำเป็น” นายยุทธพงศ์กล่าว