วันที่ 4 ก.ค.65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (4 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 40,985 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 35,100 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,666 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 15,205 ล้าน ลบ.ม.  

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. 65 ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และในช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์  รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือพร้อมให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที พร้อมกำชับให้ตรวจสอบพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้เร่งดำเนินการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวให้เสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากฤดูน้ำหลาก ตลอดจนปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด