วันที่ 3 กรกฎาคม 65 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เรื่องข้อสังเกตต่อข้อกฎหมายกรณีการนำส่งกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงความว่า กรณีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง 6 แห่ง เพื่อนำกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นมาเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ยังคงติดขัดมีความล่าช้า โดยมีบางฝ่ายให้ความเห็นว่าพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ขาดความชัดเจน บ้างก็ว่าไม่มีกฎหมายกำหนดในเรื่องนี้ไว้

โดยจะขอให้ความเห็นและข้อสังเกตทางวิชาการเป็นการส่วนตัวในเรื่องข้อกฎหมายกรณีการนำส่งกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้


 1. คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจตาม พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ มาตรา 14 (4) ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน โดยอาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ และตามมาตรา 27 (1) กำหนดให้โรงกลั่นซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตภายในประเทศ ส่งเงินเข้ากองทุนให้แก่กรมสรรพสามิตตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่าย  
2. ประเด็นปัญหาคือ การที่บทบัญญัติในมาตรา 14 (4) บัญญัติให้การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ นี้ จะทำให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้โรงกลั่นส่งเงินเข้ากองทุนโดยกำหนดตามกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ผมขอให้ความเห็นและข้อสังเกตดังนี้

(1) การที่มาตรา 14 (4) ใช้คำว่า อาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ นี้ น่าจะมีความหมายว่า เป็นการให้อำนาจดุลพินิจแก่คณะกรรมการในการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนที่เห็นว่าเหมาะสมได้ โดยอาจพิจารณาจากประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ หรืออาจจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ก็สามารถกระทำได้ด้วย ไม่ได้เป็นบทบังคับให้คณะกรรมการต้องพิจารณาจากเฉพาะประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น เนื่องจากมาตรา 14 (4) ไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่าคณะกรรมการต้องกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ใช้ถ้อยคำว่าอาจกำหนดตามนี้ก็ได้ 
 
  (2) การส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตภายในประเทศตามมาตรา 27 (1) เป็นการส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไว้ ส่วนจะส่งเงินเข้ากองทุนจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่าย ดังนั้น อัตราเงินส่งเข้ากองทุนจึงเป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันนี้คณะกรรมการได้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฉบับที่ 106 พ.ศ. 2565 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 กำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุน เช่น เบนซิน ลิตรละ 7.18 บาท แก๊สโซฮอล 95 และแก๊สโซฮอล 91  ลิตรละ 0.09 บาท ดีเซลหมุนเร็ว B7 และดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลิตรละ 1 บาท และดีเซลหมุนช้า ลิตรละ 1.20 บาท เป็นต้น

ดังนั้น คณะกรรมการย่อมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ มาตรา 14 (4) และมาตรา 27 (1) ประกาศกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนโดยพิจารณาความเหมาะสมกับสภาวะวิกฤตราคาพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ โดยอาจจะพิจารณากำหนดมาตรการเป็นการชั่วคราวในช่วงภาวะวิกฤตที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยพิจารณากำหนดตามสัดส่วนกำไรส่วนต่างของโรงกลั่นทั้ง 6 แห่งดังกล่าว ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมและเป็นธรรม ที่ไม่กระทบต่อโรงกลั่นและผู้ถือหุ้น โดยให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้

นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ มาตรา 41 ได้กำหนดบทลงโทษไว้ว่า  ผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนผู้ใดไม่ส่งเงินเข้ากองทุนหรือส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่งตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือปรับไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนที่ต้องส่งหรือจำนวนที่ขาด แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า