วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวมานิที่อาศัยอยู่ริมคลองลำโลน ในพื้นที่บ้านวังนาใน หมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่นี่มีกลุ่มชาติพันธุ์ มานิ อาศัยสร้างทับเพิงอาศัยอยู่บนเนินใกล้เทือกเขาบรรทัด มีอยู่รวมกัน เกือบ 50 กว่าชีวิต ทั้งเด็กน้อย และชาวมานิที่โตมีครอบครัว อาศัย และมี เฒ่าไข่ ศรีมะนัง ผู้เฒ่าผู้แก่ในทับที่ชาวมานินับถืออยู่

เมื่อมานิอาศัยอยู่และเข้าป่าหาของป่าจนปัจจุบัน ทั้งชาวบ้าน นายพราน และมานิที่เข้าป่าไป หาของป่ามากิน มาขาย จนทำให้พืชพรรณของป่า ลดน้อยลง และหายากขึ้น ยิ่งทำให้ชาวมานิ ออกมาจากป่า มาหางานทำบ้าง และบางคนไปรับจ้างทำงานอย่างอื่นที่ใช้แรงบ้าง

ด้าน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล โดยนายวิชัย สังฆะมะณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล  นางสาววันเพ็ญ สิตะพงศ์ ครูชำนาญพิเศษ ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา และ นายวินัย เต็มศรี  หัวหน้าโครงการพิเศษและบริการชุมชน  เล็งถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวมานิ และต้องการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้ชาวมานิ ได้เรียนรู้การดำรงชีพในปัจจุบัน   เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว ในพื้นที่ป่าในที่พัก

โดยได้จัดโครงการฝึกอบรมวิชาชีพการปลูกผักสวนครัว  ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ  เรียนรู้การเกษตร การปลูกพืชผักสวนครัว และนำอุปกรณ์ เช่น จอบ มีดพร้า บัวรดน้ำ อุปกรณ์ทางการเกษตร  มาสนับสนุน พร้อมด้วยต้นกล้า เช่นต้นมะละกอ มะเขือ พริก ตะไคร้ ถั่วฝักยาว ขมิ้น อีกมากมาย  ณ ป๋านึงล่องแก่ง  อ.ละงู จ.สตูล

สำหรับบรรยากาศการเดินทางขึ้นไปยังทับ หรือ บ้านชาวมานิ  คณะครู  นักศึกษา ต้องโดยเดินฝ่าคลองลำโลนที่เป็นคลองมีกระแสน้ำไหลผ่าน เพราะเป็นสถานที่ล่องแก่ง เดินลุยน้ำข้ามคลองไป ชาวมานิบางคน ยิ้มชอบใจ อย่างมีความสุข มาช่วยยกหิ้วต้นกล้าผักสวนครัว ลุยน้ำข้ามไป เพื่อทำการปลูกบนเนินเขาซึ่งเป็นที่พัก

ซึ่งนายไข่ ศรีมะนัง ผู้เฒ่าผู้แก่ในทับที่ชาวมานิ  กล่าวว่า ขอบคุณที่ทางวิทยาลัยฯ มาสอนการปลูกผัก สวนครัว และปัจจุบันของป่าหายากมากขึ้น เมื่อทางครูมาช่วยสอนการปลูกผัก สอนการพรวนดิน การใช้จอบถางหญ้า ขุดหลุมปลูกผัก อย่างน้อยพืชผักสวนครัวโตขึ้นเราได้ทำกิน ขอขอบคุณที่มาสอน มานิ อย่างพวกเรา

ขณะที่ นายวิชัย สังฆะมะณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล  กล่าวว่า ทาง วท.เกษตรสตูล เรามีครูมีต้นกล้า มีอุปกรณ์การเกษตร การที่มาส่งเสริม มาสอนมานิสอนปลูกผักสวนครัว มาเรียนรู้การพรวนดิน ขุดหลุมปลูกผัก แบบพอเพียงที่ตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เขาได้รู้จักคุณค่าพืชผัก และผลงานที่ปลูก ยามของป่าหายากเขาก็จะได้ มากิน เมื่อสอนเขาแล้ว ทาง วท.เกษตรสตูล ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไป การปลูกผักเขาทำได้ดีหรือไม่อย่างไร และอนาคตเราจะสอนการเลี้ยงปลาในบ่ออีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายณัฐนันท์ โอมเพียร อายุ 56 ปี ผู้ที่อยู่คลุกคลีกับชาวมานิ กล่าวว่า  ขอเป็นตัวแทนชาวมานิ ขอบคุณทาง วท.เกษตรสตูล ที่นำเรื่องการสอนปลูกผักสวนครัวมาสอนให้มานิ ได้เรียนรู้ เพราะจากการที่พูดคุยชาวมานิ บอกว่า ของป่าหายากมาก และปัจจุบัน การหากินชาวมานิ ต้องหัดเรียนรู้ปรับตัว และการปลูกผักไม่ใช้เรื่องยาก เรียนรู้การปลูกผักง่ายๆทำทุกวัน เป็นประจำ ชาวมานิก็จะทำเป็น