กรมชลประทานขานรับมติ กนช. เร่งเครื่องโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ มุ่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้ชาวท่าวังผา จ.น่าน 

วันที่ 30 มิ.ย.65 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ กนช. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบให้ กรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน ภายใต้แผนงานโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ปี 2567 – 2573) เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้กับประชาชนในพื้นที่อําเภอท่าวังผา ซึ่งกรมชลประทานได้ทำการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนดำเนินโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ พร้อมรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ นำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการฯ เดินหน้าและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการฯ และต้องการให้มีการก่อสร้างโดยเร็ว เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560  และออกแบบเขื่อนหัวงานแล้วเสร็จ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยได้รับการอนุญาติให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด จากกรมป่าไม้  เพื่อก่อสร้างหัวงานและอ่างเก็บบน้ำน้ำกิแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสํารวจออกแบบระบบส่งน้ำ และการขอใช้พื้นที่บางส่วนในการก่อสร้างหัวงานและถนนเข้าหัวงาน ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนต่อไป

ทั้งนี้  หากดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จทั้งหมด อ่างเก็บน้ำน้ำกิ จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 35,558 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบล ใน อ.ท่าวังผา เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก อุปโภค-บริโภค และสัตว์เลี้ยง ได้กว่า 6,305 ครัวเรือน ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาท่วมด้านท้ายน้ำในช่วงฤดูฝน บริเวณอําเภอท่าวังผาและพื้นที่ราบลุ่มริมลําน้ำน่าน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ  รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ประชาชนได้บริโภค และสร้างรายได้เสริม ยกคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต พร้อมเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ให้เป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง