ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานสมาพันธ์กรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) นายสะมะแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายชาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส นายศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา นายอรุณ อุมาจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดสตูลและคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ร่วมประชุมหาทางออกและแสดงจุดยืนและออกคำ "ฟัตวา" หรือ คำวินิจฉัย ต่อเรื่อง กัญชง กัญชา  เรื่องพืชกระท่อม และการสมรสเท่าเทียม

เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนพูดถึงกัน เป็นข้อถกเถียงเป็นจำนวนมากทั้งในทางโซเชียลมีเดีย และสร้างความสับสนต่อสังคมทั่วไป สมาพันธ์ฯ หวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง หลายฝ่ายจึงต้องทำความเข้าใจให้เร็วที่สุด  เนื่องจากถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในบริบทของคนใน 3 จังหวัดที่มีมุสลิมจำนวนมาก  จึงทำให้องค์กรต่างๆด้านศาสนาอิสลามที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ได้แสดงจุดยืนให้สังคมเห็นว่า เราจะนำคำวินิจฉัย(ฟัตวา) ของจุฬาราชมนตรีมาประกอบให้เป็นที่ชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนทั้ง พรบ.ทั้งหมดนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ฮารอม(ต้องห้าม)ในอิสลาม

นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน ในนามนักวิชาการแพทย์มุสลิม ซึ่งร่วมประชุมด้วยได้ให้ความเห็นว่า กัญชายังถูกปล่อยให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่มีโรคไหนที่ต้องรักษาด้วยกัญชาก่อนเท่านั้น ในทางการแพทย์ไม่มีโรคไหนที่กัญชารักษาได้ ขณะที่ไทยจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 หากทั่วโลกกัญชายังไม่ปลดล็อค สหประชาชาติจัดกัญชาให้เป็นยาเสพติดประเภท 1  เขามองว่าเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงและอันตราย (ห้ามปลูก ห้ามผลิต ห้ามค้าขาย ห้ามครอบครอง ยกเว้นการแพทย์และศึกษาวิจัย)

“กัญชายังให้เกิดโทษเช่น การทำให้หัวใจเต้นสูง หัวใจตีบและหัวใจวาย ให้เป็นเส้นเลือดตีบ 4-8 เท่า หากมีการใช้ระยะยาวอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดประสาทหลอน เกิดภาพหลอน ไอคิวจะลดลงถึง  หากสูบแล้วมีผลต่อปอด ตอนนี้แพทย์จากมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งเริ่มออกมาคัดค้านแล้ว  เพราะฉะนั้นในทัศนะแพทย์ ไม่เห็นด้วย ผมจึงเห็นว่า เรื่องกัญชง กัญชา เราไม่เห็นด้วยทุกประการ ซึ่งขณะนี้มีแต่มุสลิมที่ออกมาค้านพรบ.ไชฏอนที่ออกมาทำลายเยาวชน” นายแพทย์อนันตชัย กล่าว

ด้านผู้เข้าร่วมประชุมต่างออกความเห็นกันอาทิ ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้รัฐบาลรับรู้ ร้านอาหารมุสลิมควรประกาศว่าไม่มีกระท่อมและกัญชาในอาหารของร้านโดยชัดเจน ให้เอกสารการแถลงการณ์และคำฟัตวานี้ไปถึงทุกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในการคุตบะฮฺวันศุกร์ควรเพิ่มเรื่องโทษของกัญชา ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการต่อสู้ในแนวทางของมุสลิม ยกระดับการแสดงจุดยืนไปยังส่วนกลางและผู้นำประเทศ เป็นต้น

ในการประชุมร่วมกันใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง โดยในที่ประชุมมีมติออกคำแถลงการณ์ โดยประธานคณะกรรมการอิสลามฯ ทั้ง 5 จังหวัดได้ออกมาร่วมแถลงการณ์ดังนี้  สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับ 1) พระราชบัญญัติกัญชง กัญชา 2) พระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า และ 3) พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม - คู่ชีวิต นั้น 

สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ไม่อาจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เนื่องจากขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลามและเป็นข้อห้ามสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยเด็ดขาด ในการนี้สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) ขอยึดแนวปฏิบัติตามคำวินิจฉัย (ฟัตวา)จุฬาราชมนตรีที่ 1/2563 และประกาศฝ่ายกิจการฮาลาลกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยฉบับที่ 8/2564 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564