“ชัชชาติ” ขึ้นเวทีงาน SITE ของ NIA ชี้ต้องใช้นวัตกรรมสร้างเมืองให้เกิดความยั่งยืน เท่าเทียม ยุติธรรมและเห็นอกเห็นใจกัน ผุดโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นใน กทม. ติด GPS แจ้งพิกัด พร้อมสร้างแพลตฟอร์ม Traffy Fondue รับแจ้งปัญหาให้เจ้าหน้าที่เร่งแก้โดยไม่ต้องรอผู้ว่าฯ

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) ได้จัดพิธีเปิดงาน สตาร์ทอัพและอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2022 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 : SITE 2022 โดยภายในงานได้มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาบรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อน "กรุงเทพมหานครสู่มหานครแห่งนวัตกรรม"  ว่า “อินโนเวชั่นซิตี้ (Innovationcity)” มีการพูดถึงกันมาก คำนี้มาจากคำสองคำ คือ เมืองและนวัตกรรม ถ้าพูดถึงเมือง ตนอยากให้คิดถึงคนเป็นหลัก ชีวิตคนในเมืองมี 3 อย่าง คือ ‘ตื่น ทำงาน นอน’ เราจะทำอย่างไรให้การใช้ชีวิตในเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตนมองการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นแนวนโยบาย 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. ความยั่งยืน (Sustainable) เมืองต้องไม่เป็นภาระของคนรุ่นใหม่ อย่างการกำจัดขยะปัจจุบันเราใช้การฝังกลบ ซึ่งอันนี้เป็นภาระของคนรุ่นใหม่ เราต้องดูว่าตอนนี้มีนวัตกรรมอะไรที่จะเข้ามาช่วยให้การกำจัดขยะดีขึ้น เราต้องเอาปัญหามาสร้างนวัตกรรม 2. ครอบคลุม (Inclusive) นวัตกรรมควรจะมาแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมกันของคนกรุงเทพฯ เราต้องไม่ไปเน้นคนที่มีรายได้มาก นวัตกรรมไม่ใช่แค่การตอบโจทย์คนบางกลุ่ม แต่ต้องตอบโจทย์ทุกคนในสังคม ขณะที่เรามีรถไฟฟ้าหรูหรา แต่ยังมีคนจำนวนมากต้องรอรถตู้กลับบ้านที่จัตุจักรเป็นชั่วโมง นวัตกรรมต้องทำให้คนเท่าเทียมกันได้ และ 3. ยุติธรรมและเห็นอกเห็นใจกัน (Fair & Empathy) เมืองต้องมีความยุติธรรมและเข้าใจกัน อย่างคนรุกล้ำคลองมีจำนวนมาก เราก็ต้องเข้าใจชีวิตของเขาซึ่งรัฐบาลนี้ก็ดี หาพื้นที่บ้านใหม่ให้คนริมคลอง


 
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไฮเทค เป็นอะไรที่ง่ายๆ ก็ได้ แต่ต้องมีไอเดีย มีทางออกหรือวิธีแก้ และสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้ อย่าง ‘โครงการปลูกป่าล้านต้น’ ซึ่งตอนนี้เราได้รับบริจาคมาแล้วห้าแสนต้น แต่เราจะปลูกยังไงให้ได้ประโยชน์ เราก็เอานวัตกรรมมาใช้ด้วยการติด GPS ที่ทำให้เรารู้ว่าต้นไม้ตรงนี้อยู่ที่ไหนและมีการถ่ายรูปเพื่ออัพเดทรูปต้นไม้ทุกปี หรือการสร้างแพลตฟอร์ม Traffy Fondue คือ แพลตฟอร์มสำหรับการแจ้งปัญหา ใครมีปัญหาอะไรส่งมาได้เลย เมื่อทางสำนักงานเขตเข้ามาตรวจแพลตฟอร์มทุกเช้า ก็สามารถแก้ไขปัญหาเอง โดยที่ ผู้ว่าฯ ไม่ได้ลงไปสั่งการ ในวันแรกที่เราเปิดแพลตฟอร์มนี้มีคนแจ้งเหตุถึง 20,000 เรื่อง ปัจจุบัน 44,000 เรื่อง แล้ว เราก็สามารถเอาเรื่องนี้มาวัด KPI การทำงานของข้าราชการได้


 
“นวัตกรรมนี้เปลี่ยนเมืองได้ ทำให้คนเกิดการตื่นตัว กทม.เป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับเอกชน เอกชนเก่งในการคิดนอกกรอบและทำอะไรได้ดีกว่าเรา วันนี้ กทม.พร้อมแล้วที่ก้าวไปพร้อมกับ NIA เพื่อที่จะสร้าง Innovation City หรือเมืองนวัตกรรมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนย่านนวัตกรรมทั้ง 4 แห่งของ NIA โดยยึดหลักให้ผู้คนเป็นศูนย์กลาง เป็นโจทย์ เป็นตัวตั้ง เพื่อการพัฒนาต่อไป”