ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง “ปกป้องมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทุกประเทศ เราพึงชื่นชมความสำเร็จอย่างยาวนานและน่านับถือแห่งการก่อร่างสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมของทุกประเทศ...” ประโยคหนึ่งใน 3 หัวข้อหลักๆ ของปฏิญญาตุนหวง ที่ทางการจีนกล่าวในเวทีประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรม ผู้แทน อีกองค์กรต่างๆ เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรม รวม 85 ประเทศ (ฝ่ายไทยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม) เข้าร่วมประชุมภายใต้หัวข้อ “การยืนหยัดเพื่อสันติภาพและความร่วมมือในการจัดตั้งกลไกใหม่ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศตามแนวเส้นทางสายไหม” ที่เมืองตุนหวง มณฑลกานซู เมื่อวันที่ 20 – 21 กันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นปฏิญญาอีกอันหนึ่ง ที่มีการพูดถึงปกป้องวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไปจนถึงการพัฒนาสร้างสรรค์วัฒนธรรมดั้งเดิมอันวิจิตรของทุกประเทศ และพึงส่งเสริมความร่วมมือเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปพร้อมๆ กันอีกด้วย ในขณะที่การใช้เมืองตุนหวงเป็นสถานที่จัดประชุม อันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ภูมิประเทศแวดล้อมไปด้วยทะเลทราย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 55 กลุ่ม ย่อมมีเหตุผลของการใช้เมืองนี้จัดประชุม ด้วยที่ว่าเมืองตุนหวง ในอดีตเคยเป็นเส้นทางสายไหมยุคโบราณมากว่า 2000 ปีมาแล้ว เป็นชุมทางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองแห่งทวีปยูเรเชีย เชื่อมอารยธรรมแห่งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งการประชุมเที่ยวนี้แต่ละประเทศล้วนมีความเชื่อมโยงและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเส้นทางสายไหมในอดีต ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม อาทิ ทาจิกิสถาน ยูเครน โครเอเชีย อิหร่าน ยุโรปและประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเจ้าภาพจีน มุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศและภูมิภาคตามแนวคิด “Belt and Road” หรือเส้นทางสายไหมของจีนในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งใช้วัฒนธรรมยกระดับความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวเส้นทางสายแพรไหมยุคโบราณทางบกของจีนว่า ถือว่าเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ เมื่อพ่อค้าผ่านไปเมืองไหนก่อให้เกิดการค้า การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ก่อให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ ต่อมาเมื่อเส้นทางสายไหมหมดความสำคัญลงไป ทำให้หลายเมืองถูกทิ้งร้างหรือถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นมาสู่เส้นทางทะเล ฉะนั้น การที่จีนเอาเส้นทางสายไหมมาเป็นเรื่องสำคัญในศตวรรษนี้ เพราะว่าจีนมองอยู่แล้วในบทบาทการค้า บทบาทของความมั่นคง และบทบาทต่างๆ ในขณะที่ด้านวัฒนธรรม สามารถใช้เส้นทางสายแพรไหมสร้างบทบาทของตัวเองทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และบทบาทเวทีโลกซึ่งดูโดดด่นด้วย ส่วนจีนเลือกเมืองตุนหวงจัดประชุม ถือเป็นการเลือกเมืองที่ชาญฉลาด เพราะทั้งที่จริงแล้วสามารถเลือกเมืองซีอาน หรือปักกิ่งก็ย่อมได้ แต่ที่เลือกเมืองตุนหวง ก็เพราะมีทั้งความเชื่อมโยงและภูมิประเทศทะเลทราย และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คน นำมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังขับเคลื่อนเส้นทางสายแพรไหมให้เจริญรุ่งเรือง รมว.วีระ กล่าวในส่วนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ว่า ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นเพียงแค่เส้นทางสายแพรไหมทางอ้อม แต่เราก็ได้ประโยชน์ในการประชุมครั้งนี้มาก อย่างน้อยรู้เขารู้เรา และจีนเองมองไทยมีความเข้มแข็งด้านมรดกวัฒนธรรม อีกทั้งเส้นทางสายแพรไหมในศตวรรษที่ 21 นี้เป็นเรื่องของเส้นทางการบิน ทางทะเล และทางบก (รถยนต์ รถไฟ) ซึ่งทางบกนี้ไทยได้เปรียบเป็นจุดศูนย์กลางของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ใครจะไปภาคเหนือต้องผ่านไทย ลงใต้ผ่านไทย จีนเองมองจุดนี้เพื่อสู่เส้นทางมหาสมุทรอินเดีย ฉะนั้น ไทยต้องใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายไหมนี้ด้านเศรษฐกิจด้วย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรมของไทย แสดงความยินดีกับนาย Luo Shugang รมว.กระทรวงวัฒนธรรมของจีน ประธานประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรม ณ เมืองตุนหวง มณฑลกานซู ประเทศจีน อย่างไรก็ดี สาระของการประชุมครั้งนี้ แม้จีนจะไม่พูดเรื่องเศรษฐกิจตรงๆ เป็นเพียงการพูดความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม แต่เป็นสิ่งที่ไทยควรรับรู้ความเคลื่อนไหวเส้นทางสายแพรไหมของจีนในศตวรรษนี้เช่นกัน รมว.วีระ กล่าวถึงปฏิญญาตุนหวงว่า “ที่ประชุมพูด 3 เรื่องหลักๆ คือ ต้องร่วมมือกันศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีเส้นทางสายไหม ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์มรดกที่ยังเหลืออยู่ เช่น เมืองประวัติศาสตร์ เมืองโบราณ และภูมิปัญญา ความรู้ต่างๆ บนเส้นทางสายแพรไหม และอีกหลัก ต้องพัฒนาและใช้ประโยชน์จากมรดกองค์ความรู้ เช่น นำอดีตมารับใช้ปัจจุบันและอนาคต ด้วยการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเพื่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้ท้องถิ่น และที่สำคัญ เพื่อที่ของผู้คนในอดีตบนเส้นทางสายนี้มีความยั่งยืน” นี่คือภาพรวมๆ เวทีประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรม ผู้แทน องค์กรต่างๆ ด้านวัฒนธรรม และปฏิญญาตุนหวง พันธมิตรบนเส้นทางสายไหมของจีนในศตวรรษที่21