ปัจจุบัน "ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู" ระบาดหนักไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ในจังหวัดติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความกังวลอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เพราะคนกลุ่มนี้กำลังแสวงหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของเกษตรกรไทย โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เนื้อหมูและชิ้นส่วนผิดกฎหมายที่นำเข้ามาจากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี บราซิล อิตาลี เบลเยียม และเกาหลี โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง หรืออาหารทะเล เนื้อหมูลักลอบนี้จึงไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ซ้ำยังไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า และหลักฐานแสดงที่มาของแหล่งกำเนิด ซึ่งหากซากสัตว์เป็นโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด ย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ เป็นการซ้ำเติมวิกฤตที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่ ที่สำคัญ จากหลายประเทศอนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ได้ ในขณะที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปี พ.ศ. 2546 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หมูลักลอบที่นำมาจำหน่ายปะปนกับหมูไทยทั่วประเทศ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการบ่อนทำลายความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยอย่างร้ายกาจ เกษตรกรจึงขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการกวาดล้าง ให้สิ้นซากโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมูต่างถิ่นที่จะเข้ามาบ่อนทำลายอุตสาหกรรมหมูไทย ซ้ำเติมปัญหาที่เป็นอยู่ ถ้าไม่เร่งจัดการคนเลี้ยงก็ตายสนิท คนกินต้องเสี่ยงรับสารเร่งเนื้อแดงสารอันตรายและผิดกฎหมายไทย แถมยังทำลายเศรษฐกิจชาติย่อยยับ ส่วนการทำงานอย่างบูรณาการของพาณิชย์จังหวัดกับปศุสัตว์จังหวัด ในการลงพื้นที่ตรวจสอบสต็อกหมู ทั้งห้องเย็น ฟาร์มหมู โรงชำแหละ และโรงงานตัดแต่งแปรรูปต่างๆ ป้องกันการกักตุนเนื้อหมูเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้า นับเป็นเรื่องที่ดี แต่กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับบรรดาผู้เลี้ยงหมู ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? สาเหตุเป็นเพราะนับแต่ประเทศไทยประสบกับปัญหาการระบาดของ ASFในหมูตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงต่างยกระดับการป้องกันโรค ทั้งฟาร์มที่ยังมีการเลี้ยง และฟาร์มที่ยังไม่มีการนำหมูเข้าเลี้ยง แต่ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการป้องกันโรค ซึ่งต้องมีการฆ่าเชื้อทุกวันเพื่อให้ปลอดโรค ก่อนจะมีการเลี้ยงรอบใหม่ กล่าวได้ว่า ฟาร์มต่างๆ มีค่าบริหารความเสี่ยงด้านโรคระบาดในหมู โดยต้นทุนการป้องกันโรคขณะนี้อยู่ที่ 400-500 บาทต่อตัว เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ดำเนินการจึงต้องไม่ละเลยมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคหมูอย่างเคร่งครัดด้วย โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงกับฝูงสัตว์ คือไม่เพิ่มโอกาสในการนำเชื้อโรคเข้าฟาร์มเกษตรกร หากจำเป็นต้องเข้าตรวจจริง ต้องไม่ละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคขั้นสูงสุดอย่างเคร่งครัด ด้วยการจะต้องตรวจ PCR Swap เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อแอบแฝงอยู่ และต้องกักโรคตามมาตรฐานอย่างน้อย 5 วันก่อนเข้าฟาร์ม เนื่องจากมีการเดินทางไปหลายๆ ฟาร์มในเวลาจำกัด หากมีเชื้อโรคติดมาด้วย จะกลายเป็นการนำพาโรคกลับมาให้หมู และถ้าเป็นอย่างนั้น จะทำให้ความพยายามป้องกันโรค โดยเฉพาะ ASFในหมู ต้องพังทลายไป ที่สำคัญ การเข้าตรวจโรงชำแหละ แล้วย้อนมาตรวจฟาร์มเลี้ยงต่อ หรือแม้แต่การเข้าฟาร์มหนึ่งแล้วไปเข้าอีกฟาร์มหนึ่ง ถือว่าผิดหลักการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และเพิ่มความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์ เพราะเพียงแค่เชื้อโรคที่ติดมากับคน รถยนต์ จากแห่งหนึ่ง สู่อีกฟาร์มที่ปลอดโรค เท่ากับมีเชื้อมาจ่ออยู่ที่หน้าฟาร์ม ถ้าเกิดระบบการป้องกันโรคมีความหละหลวม ย่อมเป็นการเปิดโอกาสนำความหายนะเข้าสู่ฟาร์ม หากเชื้อนั้นหลุดรอดเข้าสู่สัตว์ได้ ย่อมสร้างความเสียหาย ที่ไม่อาจประเมินได้ หากจำเป็นต้องตรวจสอบตามข้อสั่งการในภาระกิจดังกล่าว อาจใช้วิธีการของบางฟาร์มที่น่าสนใจ โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถติดตามการบริหารจัดการในฟาร์ม ด้วยการถ่ายทอดภาพภายในผ่านกล้องวงจรปิด เพื่อไม่ให้บุคลากรภายนอกเข้าฟาร์มได้ เพราะโดยปกติ คนเลี้ยงหมูจะมีมาตรการซีล (seal) ตัวเองอยู่เฉพาะภายในฟาร์ม หลีกเลี่ยงการออกภายนอกฟาร์ม ป้องกันการรับเชื้อโรคจากภายนอกทั้งโควิด-19 และโรคหมูอื่นๆ เข้าสู่ฟาร์ม “ท่านมาเราเข้าใจ แต่ท่านจากไปแล้วโรคอยู่กับฟาร์ม ใครจะรับผิดชอบ ขอความเข้าใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ การป้องกันโรคแบบเข้มข้นที่สุด เพื่อไม่ให้ ASF เข้ามาในฟาร์มหมูของเราได้ การบริหารจัดการด้านการป้องกันโรค กำลังดำเนินการไปด้วยดี ทั้งสมาคมผู้เลี้ยงทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด เร่งระดมสรรพกำลัง และให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคตามมาตรฐาน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ กลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้อย่างปลอดภัย ปลอดโรค สถานการณ์ต่างๆ กำลังเดินหน้าไปในทางที่ดี โรคเริ่มเบาบาง เราไม่อยากให้การทำงานของภาครัฐ กลายเป็นการเปิดช่องให้โรคต่างๆเข้ามาทำร้ายฟาร์มหมูของเราได้ ที่สำคัญทุกฟาร์มต่างให้ความร่วมมือในการรายงาน สก.01 แก่หน่วยงานรัฐเป็นประจำทุกๆวันจันทร์ตามที่กำหนด ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าใจในความกังวลของเกษตรกรด้วย” ผู้เลี้ยงหมูกล่าว โดย : สาริทธิ์ สันห์ฤทัย