วันที่ 23 พ.ค.65 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte ระบุว่า... “ชัชชาติ” บนเส้นทาง “ความหวัง” ของคนกรุง ด้วยคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ ได้คะแนนสูงลิ่วถึงเกือบ 1.4 ล้านคะแนน คิดเป็น 51.8% จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เกือบ 2.7 ล้านคน ส่งผลให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 จึงเป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ ว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ? 1. คุณสมบัติของ ดร.ชัชชาติ ดร.ชัชชาติ เป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีความมุ่งมั่น อ่อนน้อมถ่อมตน และประนีประนอม จะทำให้สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการและลูกจ้างของ กทม. ที่มีอยู่ประมาณ 8.5 หมื่นคนได้ อีกทั้ง จะสามารถประสานงาน “360 องศา” กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ 2. นโยบายของ ดร.ชัชชาติ นโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” ที่ประกอบด้วยนโยบายย่อยกว่า 200 นโยบาย เป็นนโยบายที่ครอบคลุมความต้องการของคนกรุงเทพฯ ทุกด้าน และคาดว่าจะสามารถทำได้จริง ไม่ขายฝัน เพราะได้รับการกลั่นกรองมาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้ประสบปัญหา ผู้นำชุมชน และผู้เชี่ยวชาญ 3. งานท้าทายงานแรกของ ดร.ชัชชาติ เวลานี้เป็นช่วงหน้าฝน ดังนั้น ดร.ชัชชาติจะต้องเผชิญกับการต่อสู้ปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน ผมอยากให้ท่านเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม ผ่อนหนักเป็นเบาให้ได้ในเวลาไม่นาน เช่น จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่แยก อสมท. และหน้าศาลอาญา เป็นต้น โดยอาจจะเริ่มแก้ปัญหาที่แยก อสมท. เป็นโครงการนำร่อง เมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็ใช้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมอื่นต่อไป 4. งานกระดูกชิ้นใหญ่ของ ดร.ชัชชาติ การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยืดเยื้อมานาน ถือเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ของ ดร.ชัชชาติ หากท่านเลือกที่จะไม่ต่อสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานคือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ท่านจะต้องแก้ปัญหา 2 ประการ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ยากที่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหา 2 ประการดังกล่าวมีดังนี้ 4.1 ปัญหาหนี้สินของ กทม. กทม. มีหนี้ที่จะต้องจ่ายให้บีทีเอสซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างเดินรถ และค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล อีกทั้ง มีหนี้งานโยธาที่รับโอนส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงเวลานี้เป็นเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และจากนี้ไปจนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน เป็นเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นหนี้ทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท 4.2 ปัญหาสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถถึงปี 2585 กทม. ได้ทำสัญญาจ้างให้บีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 หาก ดร.ชัชชาติ ต้องการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่หลังจากสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 เพื่อหวังที่จะลดค่าโดยสาร อาจเกิดข้อพิพาทกับบีทีเอสได้ เนื่องจากบีทีเอสยังมีสัญญาจ้างให้เดินรถจนถึงปี 2585 5. สรุป ด้วยคุณสมบัติของ ดร.ชัชชาติ และนโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” รวมทั้งทีมงานที่เข้มแข็ง ผมหวังว่า ดร.ชัชชาติ จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่สามารถนำความสุขมาให้คนกรุงเทพฯ ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ !