บรรดาสำนักข่าวต่างประเทศพากันรายงานข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ของไทย ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ ที่ถือเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี หรือทศวรรษ พร้อมกันนี้ ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ด้วยเช่นกัน รายงานข่าวแจ้งว่า ประชาชนจำนวนกว่า 4.3 ล้านคน จะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์เดินขบวนประท้วงตามท้องถนนโดยกลุ่มเยาวชน เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านี้ จะเลือกผู้ว่าฯ ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากถึง 30 คน มากที่สุดเป็น ประวัติการณ์ หลังการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกยกเลิกไปตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) ที่ส่งผลให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ต้องอยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ ที่ผู้นำรัฐบาลแต่งตั้ง ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตั้งเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะมีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรที่มีสิทธิทั้งหมดของกรุงเทพฯ ขณะที่ แนวทางการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปในทางการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนชาวกรุงเทพฯ มากกว่าประเด็นทางด้านการเมือง พร้อมกันนี้ รายงานข่าวเผยว่า คาดว่าการประกาศผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะมีขึ้นในช่วงเวลาดึกของวันอาทิตย์นี้ และทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป ทางด้าน บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2014 ซึ่งประชาชนอยากแสดงออก และผลการเลือกตั้งที่ออกมา หากผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้รับชัยชนะ ก็จะส่งผลต่อรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการไม่ไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล ตลอดจนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ระดับชาติต่อไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีก 1 ปี ข้างหน้า