ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ให้การต้อนรับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนในโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 เพื่อบรรยายสรุปการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักงานชลประทานที่ 1 ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ตลอดฤดูแล้งปี 2564/65 ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตลอดจนการควบคุมดูแลอาคารชลประทานทุกแห่งในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 ด้วยความประณีตสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุน โดยเล็งเห็นความสำคัญด้านการอุปโภค บริโภคเป็นหลัก สำหรับผลการส่งน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 จากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพื่อสนับสนุนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง รวม 19 รอบเวรนั้น (ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 18 พฤษภาคม 2565) ปัจจุบันได้สิ้นสุดการส่งน้ำแล้ว(เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565) รวมปริมาณน้ำที่ส่งทั้งสิ้น 14.74 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยกว่าแผน 12.47 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากฝนที่ตกในแต่ละช่วงเวลา ประกอบกับกลุ่มผู้ใช้น้ำมีแหล่งน้ำเก็บกักเป็นของตนเอง ประกอบกับปฏิบัติตามกฎการใช้น้ำเป็นอย่างดี ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 13.34 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมติดตามผลการส่งน้ำทุกสัปดาห์จึงทำให้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จากแผน 215,460 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 261,324 ไร่ (เกินกว่าแผน 45,864 ไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 52,746 ไร่ คิดเป็น 20% สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยหลังเกิดพายุฤดูร้อนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้สนับสนุนเครื่องจักร และกำลังพลเพื่อเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนระหว่างเกิดเหตุในทันที ทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วยเช่นกัน ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2565 และการบริหารจัดการน้ำปีนี้ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 จะมีปริมาณฝนในปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3% ส่วนกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงทำให้เกิดฝนตกน้อย หลังจากนั้นจะชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โดยคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูกและมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในการนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยได้เตรียมการรับมืออุทกภัยด้วยการกำหนดพื้นที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา การกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางเดินน้ำ การกำหนดคน ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ และการจัดสรรทรัพยากร ตรวจสอบความพร้อมใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนได้ร่วมประสานงานและบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด จากนั้นเวลา 13.00 น. คณะผู้บริหาร นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ โครงการฝายหนองสลีก ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยมีนายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ เพื่อรับฟังการบริหารจัดการน้ำของฝายหนองสลีก ซึ่งถือเป็นฝายแห่งที่ 7 ในลำน้ำปิงเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูน โดยฝายหนองสลีกเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นฝายทดน้ำกั้นแม่น้ำปิง เป็นแนวตรงขวางลำน้ำ ความยาวสันฝาย 139.60 เมตร ความสูงฝาย 3.80 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2550 ได้ปรับปรุงเป็นฝายยาง จำนวน 5 ช่อง ๆ ละ 24.00 เมตร ยาวรวม 120 เมตร และประตูระบายทรายขนาด 5.00 เมตร จำนวน 4 ช่อง ทั้งนี้ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของฝายหนองสลีกมีความยาวประมาณ 13.10 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 12,400 ไร่ ซึ่งจากการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฝายหนองสลีก(ฝายยาง) เกิดชำรุดเสียหายไม่สามารถควบคุมและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาด้านการบริหารการจัดการน้ำในฤดูฝน และฤดูแล้งไม่สามารถทดน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้เต็มประสิทธิภาพ กระทั่งในปี พ.ศ. 2564 ได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงเป็นฝายพับได้ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากและสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักหน้าฝาย จากเดิม 300,000 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรเก็บกัก 4.10 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย