นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องรับรอง ชั้น 11 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ กล่าวว่า มีคนเข้าใจว่า การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจะเริ่มต้นในปลายปีนี้ ประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้นจะมีการประชุมสำคัญ 2 ส่วนคือ 1.การประชุมสุดยอดผู้นำ หรือเอเปค ซัมมิท ซึ่งจะมีการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้หรือปลายปีนี้ 2.การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าของเอเปค ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะเป็นประธานในการประชุม โดยมีเขตเศรษฐกิจการค้าที่จะเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ และจะมีการเริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 19-22 พฤษภาคม ต่อเนื่องกัน 4 วัน จะมีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า ภาคเอกชน และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส สำหรับเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเอเปคจากกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าของกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค 21 ประเทศ และมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เอเปคพัฒนาไปเป็น FTA ต่อไปในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2040 ซึ่งถ้าทำสำเร็จ FTA-APEC จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงที่สุดในโลกต่อไป คือ เป้าหมายที่ประเทศไทยตอนที่เราเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานในที่ประชุมมีความประสงค์จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ นอกจากนั้น จะมีการขับเคลื่อนการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยคือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในการขับเคลื่อน SMEs โดยเฉพาะ Micro SMEs ให้กลายเป็นฐานรากสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและกลุ่มประเทศเอเปคต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะเป็นโมเดลที่จะทำให้ภาคการผลิตตั้งแต่เศรษฐกิจฐานราก Micro SMEs เดินหน้าไปสู่การผลิตทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติต่อไป นอกจากนั้นในการประชุม 4 วัน ตั้งแต่ 19 -22 พฤษภาคมนี้จะถือโอกาสหารือในรูปแบบทวิภาคี 2 ประเทศกับทั้งสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย รวมทั้งแคนาดา ญี่ปุ่น และจีนฮ่องกงต่อไปด้วย และจะแถลงผลให้ทราบต่อไป เพราะการประชุมเอเปคครั้งนี้ ทั้งรัฐมนตรีสหรัฐฯ รัสเซีย และญี่ปุ่นหลายประเทศมาอย่างพร้อมเพรียง “ถ้ามีการจัดตั้ง เป็น FTA-APEC จะมีประชากรทั้งหมด 2,900 ล้านคน (เป็น38% ของประชากรโลก) GDP รวม 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท (62% ของ GDP โลก) ถ้าทำได้สำเร็จในปี 2040 อย่างน้อยมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศเอเปคจะเพิ่มขึ้น 200-400% โดยประมาณ โดยประเทศจีนก็เข้าร่วมและเป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมผ่านระบบซูม เนื่องจากเคร่งคัดเรื่องโควิด แต่ประเทศที่เหลือเดินทางมาประชุมด้วยตนเองทุกประเทศทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ” ทั้งนี้ เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม