ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “โลกใบที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้...ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า...อนาคตจะนำสิ่งใดมาสู่เรา” “เรามีความรู้มากมายในเรื่องของ เงินๆทองๆ แต่เรารู้น้อยกันอย่างน่าตกใจว่า โครงสร้างทางสังคมนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปได้อย่างไร...ยิ่งในตอนนี้มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากแล้วว่า อนาคตจักต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างถอนรากถอนโคน...ว่ากันว่า ปีค.ศ.2030 หาใช่เวลาที่ไกลเกินกว่าจะจินตนาการถึง แต่ในทางตรงกันข้าม เราสามารถมองเห็นเค้าลางของมันได้จากสิ่งที่ปรากฏเป็นสัญญาณในตอนนี้...แม้ว่าหลายสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งจะยังคงอยู่และทวีความรุนแรงขึ้นคือปัญหาโลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในสาเหตุนั้นคือ ปรากฏการณ์เกาะความร้อนที่เกิดจากเมืองใหญ่ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก..” บทกล่าวนำนี้...คือภาวะแสดงแห่งหนังสือ”2030 อนาคตอันใกล้ไม่มีอะไรเหมือนเดิม”งานเขียนที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ยิ่งต่อโลกวันนี้โดย..”เมาโร เอฟ.กิลเยน”(Mauro F.Guillen) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการระหว่างประเทศ ประจำวอร์ตันสคูล มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์การตลาดโลก ผู้เคยได้รับรางวัลการสอนมากมายจากวอร์ตันสคูล...เนื้อหาการสอนด้านเทรนด์ตลาดโลกของเขาถูกบรรจุลงในวิชาการเรียนรู้ของผู้บริหารมากกว่า 50รายวิชา... ในหนังสือที่มีค่าความหมายเล่มนี้ เขาผสานความรู้จากการเรียนสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล เข้ากับการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ในการอ้างอิงและวิจัยถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในด้าน ประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาเทคโนโลยี หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี แมนดาริน โรมาเนีย ตุรกี สเปน และเวียดนาม... “ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อนาคตจะนำพาสิ่งใดมาสู่เรา หากคุณรู้ก็ได้โปรดบอกผมด้วย เราจะได้ร่วมมือกันกอบโกยรายได้มหาศาลแบบเต็มรถบบรรทุก” นี่คือคำกล่าวของ “เมาโร” ในบทนำของหนังสือเล่มนี้...อันเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลยสักนิดเดียว...ทั้งนี้ก็เพราะว่า...ผู้ที่ล่วงรู้อนาคตย่อมฉวยโอกาสไว้ได้ก่อนเสมอ ทว่าเราล้วนต่างเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นได้... เราต่างจึงต้องคาดการณ์และเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย... “คนแต่ละรุ่นในประวัติศาสตร์ล้วนมีความแตกต่างที่น่าสับสนในตัวแต่ละคน ลองคิดดูในแง่ของรุ่น กลุ่มในรุ่น และ กลุ่มย่อย จะช่วยให้วิเคราะห์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือการเข้าใจผู้คนในยุคมิลเลนเนียล ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า เราจะเข้าใจพวกเขาดีขึ้นในอนาคต เพราะพฤติกรรมของพวกเขาจะต้องวิวัฒนาการไปอย่างแน่นอน เมื่อสมาชิกในรุ่นผ่านช่วงต่างๆของชีวิต พวกเขาก็จะปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมไป กลุ่มคนอายุมากกว่าหกสิบปีในวันนี้ จะต่างจากกลุ่มอายุเดียวกันในอนาคต ที่บางครั้งก็จะต่างไปอย่างมาก แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าเรากำลังพิจารณาคนรุ่นไหน แต่เกี่ยวกับความหมายของคนสูงวัยที่เปลี่ยนไปในมุมมองของเรา” นิตยสารไวรด์(Wired)และ ไฟเซอร์(Pfizer) หนึ่งในบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ร่วมกันเพื่อทำนายว่า ความสูงวัยจะหมายถึงอะไรในอนาคต...ในขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนมากมายในเรื่องของวัยชรา...”พอล แวนเดนโบรก” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การแพทย์ของไฟเซอร์ได้กล่าวเอาไว้ว่า “พวกเราหลายคนสามารถลงมือทำได้ในวันนี้ เพื่อให้วัยชราไม่ได้หมายความแค่ว่ามีชีวิตอยู่นาน แต่ต้องอยู่ดีด้วย” เราวางใจได้ว่ายาและเทคโนโลยีจะทำให้เราสุขภาพดีเมื่ออายุมากขึ้น แต่พฤติกรรมของเราเองก็สำคัญต่อความแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าทั้งกายและใจ..คำทำนายที่น่าสนใจมีอยู่ว่า..”คนรุ่นมิลเลนเนียลนั้นแตกต่างจากเบบี้บูมเมอร์และเจนเอกซ์ที่อายุมากกว่า เมื่อตัดภาพจำออกไป พวกเขาเป็นตัวแทนของจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นคนรุ่นแรกที่ได้สัมผัสกับอินเทอร์เน็ตมาตลอดวัยเด็ก ความพอใจที่ได้เชื่อมต่อตลอดเวลาและเข้าถึงข้อมูลได้โดยทันที คือลักษณะสำคัญที่อาจทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในวัยชรา...ชาวมิลเลนเนียลอาจเป็นคนรุ่นที่ตระหนักว่า การมีอายุยืนยาวต้องอาศัยความตั้งใจที่จะมีสุขภาพดีและกระปรี้กระเปร่าชั่วชีวิต และความต้องการที่จะเชื่อมต่อตลอดเวลา อาจช่วยให้พวกเขาเอาชนะความเดียวดายได้เมื่ออายุมากขึ้น อย่างที่”สตีเฟน อีเวลล์” ประธานบริหารสมาคมเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค...เสนอว่า.. “มิลเลนเนียลสนใจจริงจังที่จะเตรียมตัวให้พร้อมกับชีวิตที่มีสุขภาพดียาวนานขึ้น เราไม่ได้แค่รวมเอาความคิดของพวกเขาเข้ามา แต่เรารับเอาความคิดเหล่านั้น และมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของเราในการที่จะทำให้ชุมชนแข็งแกร่งขึ้น” มิลเลนเนียลจะมีชีวิตยืนยาวกว่าคนรุ่นก่อน ดังนั้นเดิมพันในการนิยามวิถีชีวิตวัยชราจึงสูงขึ้น ...จากโครงการของโครงการไซต์ไลน์(Sightlines PROJECT) ที่ศูนย์วิจัยผู้สูงวัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ข่าวดีก็คือ “อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมากมาย และอัตราการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ชาวมิลเลนเนียลมีเพื่อนที่สามารถพึ่งพาได้ ในเวลาที่ยากลำบากมากกว่าคนหนุ่มสาวเมื่อในอดีต มิลเลนเนียล เรียนจบมหาวิทยาลัยมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และตัวบ่งชี้ ถึงชีวิตที่ดีเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ที่ดีที่สุดก็คือการศึกษา...แต่ก็มีชาวมิลเลนเนียลจำนวนเท่าๆกัน หรือไม่ก็มากกว่าที่จะต้องประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก เป็นส่วนใหญ่ในวัยผู้ใหญ่ ในทั่วโลก เราได้เห็นการแบ่งแยกออกเป็นสองขั้ว ในเรื่องทรัพย์สินเงินทองของคนกลุ่มต่างๆ ... นี่คือการตอกย้ำให้เห็นวันนี้ของอนาคตแห่งปี2030 อันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้....ยิ่งใกล้เข้าไปมากเท่าไร..ก็ต้องตระหนักกันให้ถ่องแท้ว่า..ปี 2030 หาได้อยู่ห่างไกลไปในอนาคตที่เราคาดการณ์ไม่ได้ มันอยู่ใกล้แค่นี้เอง และเราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับกับโอกาสและความท้าทาย อันหมายถึง โลกใบที่เรารู้จักกันอยู่ทุกวันนี้ จะไม่มีอยู่ต่อไปเมื่อถึงปี ค.ศ.2030... “ปี2030..โลกที่คุ้นตาจะอันตรธานหายไปอย่างฉับพลัน เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับความจริงแบบใหม่ ความจริงที่ว่าประชากรทั่วโลก จะเข้าสู่ช่วงขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน คนวัยเกษียณที่สหรัฐอเมริกาจะมีคนดูแลเป็นหุ่นยนต์ แต่อีกฟากหนึ่งของโลกที่แอฟริกากำลังเกิดกระแสเบบี้บูม ตลาดผู้บริโภคชั้นกลางที่ใหญ่ที่สุดในปี 2030 คือจีน จำนวนเศรษฐีทั่วโลก จะมีผู้หญิงถึง55เปอร์เซ็นต์ เทคโนโลยีจะแพร่หลาย ในทุกตำแหน่งแห่งหนบนโลก จนมีจำนวนโทรศัพท์มือถือมากกว่าห้องน้ำ สกุลเงินบางส่วนที่สำคัญที่สุดในโลกจะไม่ได้ออกโดยรัฐบาล แต่จะออกโดย บริษัทหรือกระทั่งคอมพิวเตอร์” ท้ายที่สุด...ในฐานะทางสังคม โดยทั่วไปแล้ว เราพร้อมจะรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติที่คุ้นเคย อย่างเช่นแผ่นดินไหว หรือ เฮอริเคน ...มีแนวทางให้ผู้คนหรือบริษัทปฏิบัติตาม โครงสร้างพื้นฐานของเราเช่น อาคารพาณิชย์และบ้านที่อยู่อาศัย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทนกับหายนะดังกล่าวได้ แล้วเราก็พร้อมจะรับมือกับโรคระบาดในแบบเดียวกันนั้นไหม ...องค์การอนามัยโลกบันทึกว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นระดับภูมิภาคจำนวน 1,307 ครั้ง…โรคระหว่างปี 2011 และ 2017 ปกติแล้วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดระดับโลกทุกสี่สิบถึงเจ็ดสิบปี...อย่างเช่นกาฬโรคครั้งที่สามเกิดขึ้นในปี 1,855...ไข้หวัดระบาดเกิดขึ้นเมื่อปี1918-1919 ...โรคเอดส์เริ่มต้นเมื่อต้นทศวรรษ 1980 และตอนนี้ โควิด-19 ในปี 2020...แผ่นดินไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นแบบทิ้งช่วง แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ล่าสุดสองครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 1906 และ1989...ทั้งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะมีมาตรการพร้อมสำหรับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อโรคระบาดกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก การมีมาตรการดั่งนี้จะช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกและกังวลใจของประชาชน แน่นอนว่า จะต้องประกอบไปด้วยระบบการดูแลสุขภาพ ที่มีกำลังคนเพียงพอ และพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติสาธารณสุข รวมทั้งการยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกัน... นอกจากนี้ ความรับผิดชอบส่วนบุคคล เช่นการเว้นระยะห่างทางสังคม และ “การกักตัว” เพื่อจำกัดการกระจายของเชื้อในชุมชน มีความสำคัญมากขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นเช่นในเขตเมือง...สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมกระแสหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้น เช่นการซื้อของทางออนไลน์ การสื่อสารเสมือนจริง...นับแต่การทำงานระยะไกลจนถึงการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม เกือบทุกคนหันมาใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างซูมหรือวอตส์แอพเพื่อติดต่อหากัน...รวมทั้งการเสพความบันเทิงทางดิจิตอล...ซึ่งผลิตภัณฑ์อย่างภาพยนตร์ หนังสือ และ ดนตรี จะถูกขายให้กับลูกค้าทางออนไลน์แทนการไปซื้อที่ร้านค้าปลีก...เศรษฐกิจแบบแบ่งปันซึ่งเป็นพลังงานในการปฏิวัติอยู่แล้วจะยิ่งยกระดับขึ้นไปอีกภายใต้วิกฤตนี้.. **อุตสาหกรรมไหนจะได้รับผลเสีย อย่างการขนส่งเดินทาง และ อุตสาหกรรมไหนจะได้รับความนิยม เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัล จะส่งผลกระทบที่คงอยู่ยาวนานต่อวิธีการใช้ชีวิต ทำงาน และการปฏิสัมพันธ์กันของเรา รวมถึงเศรษฐกิจในอนาคตที่คาดการณ์ได้ “กระแสเหล่านี้ทั้งหมดจะเข้มข้นขึ้น และปรับตัวเข้ากับไวรัสโคโรนา อย่างไรนั้น กำลังปรากฏให้เราเห็นกับตาตัวเอง กระแสส่วนใหญ่ตั้งแต่การเจริญพันธุ์ที่ลดลงไปจนถึงความแตกต่างระหว่างคนแต่ละรุ่น ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีจะเพิ่มขึ้น เพราะโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ แต่คำถามสำคัญที่เราต้องถามตัวเองก็คือ โควิด-19 หรือวิกฤติที่ยังมองไม่เห็นครั้งต่อไป จะทำให้เรามีความพร้อมมากขึ้น หรือมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ไม่เกิดขึ้น...มันจะแตะถึงขั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในทศวรรษหน้านี้แน่นอน” 2030...ถือเป็นหนังสือเล่มเดียว ณ ขณะนี้ ที่รวมเทรนด์ทั้งหมดซึ่งกำลังจะเปลี่ยนไปในรอบ 10 ปีนี้ ที่จะทำให้วิถีชืวิต การทำงาน และการปฏิสัมพันธ์ของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล...จริงๆแล้วเราอาจมีความรู้มากมายในเรื่องเงินๆทองๆ แต่เราต่างรู้น้อย อย่างน่าตกใจว่าโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปได้... “ไอริสา ชั้นศิริ” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างทรงภูมิรู้ ที่เปี่ยมไปด้วยรายละเอียดอันสำคัญ..มันคือหนังสือที่น่าอ่าน น่าศึกษา เพื่อการรู้เท่าทันโลกอันสลับซับซ้อนของยุคนี้..ทั้งเพื่อความเข้าใจต่อตนเอง และการตระหนักรู้ในโครงข่ายของโลกที่จะนำเราไปสู่ประตูกลอันซ้อนซับแห่งยุคสมัยที่ก้าวล้ำจนยากจะตาม.... ได้ทัน “ความเป็นจริงก็คือ..เมื่อถึงปี 2030 เราจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนทารก ...ในอีกไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่ถึงครึ่งของช่วงระหว่างปี 1960 และ 1990...การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องประชากร ที่หลายๆส่วนบนโลก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะว่าประเทศไหนมีลูกมากกว่ากัน แต่ยังเกิดจากประเทศไหนมีอายุคาดเฉลี่ยยาวนานขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย...”