กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี กลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน ชาวชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการบริหารเปิดและปิดประตูระบายน้ำผิดพลาด ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบน เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ครอบคลุม 3 อำเภอ 8 ตำบล 39 หมู่บ้าน 3,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 200,000 ไร่ นั้น นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีนี้ว่า พื้นที่ที่เกิดปัญหาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่สุดของลุ่มน้ำปากพนังบริเวณขอบพรุควนเคร็ง ไม่เกิน 4,000ไร่ ไม่ใช่ 200,000 ไร่ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง และพื้นที่สวนปาล์มที่ทำคันยกร่องก็ไม่ได้รับความเสียหายเช่นกัน ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวในปีที่ผ่านมา 120,000 ไร่ ได้รับผลผลิตดีไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด จึงเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ร้อง เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบนและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง ได้บริหารจัดการประตูระบายน้ำ ปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ ปตร.คลองชะอวด-แพรกเมือง รวมทั้ง ปตร.ริมชายฝั่งทะเลทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังออกสู่ทะเลอ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล ซึ่งสามารถลดระดับน้ำเหนือปตร.คลองชะอวด-แพรกเมือง ต่ำสุด เท่ากับ +0.09 ม.(รทก.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ส่วนระดับน้ำเหนือปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ ต่ำสุด เท่ากับ +0.05 ม.(รทก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 แต่เนื่องจากมีฝนตกอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนกุมภาพันธ์–ปัจจุบัน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปากพนังกลับเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว สำหรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน ประเด็นแรกขอให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ +0.00 ม.(รทก.) ในระยะเร่งด่วน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการรักษาระดับน้ำเก็บกักไว้ที่ +0.00 ม.(รทก.) ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว พร้อมกันนี้ได้จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC) ปตร.คลองชะอวด-แพรกเมือง ครั้งที่ 1/2565 เมื่อเดือนมกราคม 2565 มติที่ประชุมเห็นชอบให้คงระดับน้ำไว้ที่ระดับปัจจุบัน + 0.43 ม.(รทก.) เพื่อให้เกษตรกรที่ต้องการทำนาปีเร่งสูบน้ำเข้าพื้นที่ทำนา และควบคุมระดับเก็บกักไม่เกิน +0.30 ม(รทก.) ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นฤดูทำนาปี หลังจากนั้นวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 จะควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำปากพนังไม่ให้เกินระดับ + 0.00 ม.(รทก.) เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในที่ลุ่มสามารถใส่ปุ๋ยบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมันได้ โดยจะควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำปากพนังตามเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกัน แต่เนื่องจากมีปริมาณฝนที่ตกหนักลงมาอีก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ ด้านข้อเสนอในการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ นั้น ได้มีการจัดการประชุมคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 ได้มีการจัดทำร่างคำสั่งฯโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาให้ความเห็นชอบคำสั่งดังกล่าว ส่วนข้อเสนอในการวางระบบการทำการเกษตรในพื้นที่การเกษตรแบบเข้มข้น เพื่อให้เกิดการใช้น้ำที่เอื้อกับทุกภาคส่วน นั้น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ส่งเสริมการทำการเกษตรในพื้นที่ระบบส่งน้ำแบบสูบน้ำโดยกรมชลประทาน MC1 และ MC2 ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบในนิคมควนขนุน และระบบส่งน้ำโครงการฝายคลองไม้เสียบ มีการวางแผนการปลูกพืชและการส่งน้ำที่ชัดเจน แต่ในพื้นที่ระบบส่งน้ำแบบสูบน้ำโดยเกษตรกร พื้นที่ MD1 ถึง MD8 พื้นที่ชลประทาน 439,100 ไร่ กรมชลประทาน ได้เก็บกักน้ำไว้โดยใช้ประตูระบายน้ำในพื้นที่เป็นอาคารควบคุมปริมาณน้ำในลำคลองสายต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสูบน้ำไปใช้ในการทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้มีการทำการเกษตรค่อนข้างสูง ปริมาณน้ำที่มีอย่างจำกัดจึงไม่เพียงพอทำการเกษตร ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอ เนื่องจากติดปัญหาในด้านต่างๆ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติมได้ ส่วนประเด็นการให้เร่งจัดหาพื้นที่เก็บน้ำไว้ให้เพียงพอกับการทำการเกษตร ที่ไม่ใช่พื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน (ทั้งพื้นที่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่) ในพื้นที่ตอนบนบริเวณต้นน้ำของลุ่มน้ำปากพนัง มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการประเภทแหล่งกักเก็บน้ำหลายโครงการฯ ที่ได้มีการวางแผนไว้ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลาไม ความจุ 42.10 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองโคกยาง ความจุ 23.60 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองถ้ำพระ 2 ความจุ 17.10 ล้าน ลบ.ม. ม. แก้มลิงเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ 1,725 ไร่ ความจุ 2 ล้าน ลบ.ม. และแก้มลิงพรุช้างซ้าย ตำบลช้างซ้าย พื้นที่ 2,000 ไร่ ความจุ 2 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการโครงการเหล่านี้ได้ เนื่องจากมีข้อขัดแย้งด้านการใช้ที่ดินและพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำในลุ่มน้ำปากพนังที่สถานีวัดน้ำท่าต่างๆในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ฝายคลองไม้เสียบ รวมทั้งนำข้อมูลพยากรณ์ฝนล่วงหน้ามาวิเคราะห์ปริมาณน้ำท่า เพื่อประกอบการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสและประตูระบายน้ำคลองชะอวด – แพรกเมือง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป