อธิบดีกรมชลฯ เผยความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ (ระยะที่2) 92 เปอร์เซนต์ คาดแล้วเสร็จปีนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองหาดใหญ่ พร้อมเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภคในสงขลา วันที่ 25 เม.ย.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา และรายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 92 ณ บริเวณคลองภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) มีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 92 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองหาดใหญ่ได้เป็นอย่างมาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค การเกษตร และผลิตน้ำประปา ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้อีกด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่างานก่อสร้างจะยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ก็สามารถช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้แล้วประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) เป็นการปรับปรุงคลองภูมินาถดำริ หรือคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.34 กิโลเมตร รวมทั้งการก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 และประตูระบายน้ำบางหยี 2 พร้อมสถานีสูบน้ำบางหยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดขยายความกว้างของคลอง ซึ่งจากเดิมระบายน้ำในอัตรา 465 ลบ.ม./วินาที ให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 1,200 ลบ.ม./วินาที และเมื่อระบายน้ำร่วมกับคลองอู่ตะเภาในอัตรา 465 ลบ.ม./วินาที จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,665 ลบ.ม./วินาที บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างมาก ส่วนการก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ซึ่งอยู่บริเวณปากคลองระบายน้ำ ร.1 ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถใช้บริหารจัดการน้ำด้วยการเปิด-ปิดบานระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองระบายน้ำ ร.1 ได้แล้ว ส่วนประตูระบายน้ำบางหยี 2 พร้อมสถานีสูบน้ำ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน หากงานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. อีกด้วย