สัตวแพทยสภาแห่งประเทศไทย จัดเสวนาระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.... พบช่องว่างหลายประการ อาจส่งผลกระทบความปลอดภัยทางอาหารและคุณภาพชีวิตคนไทยไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ ด้านกรมปศุสัตว์รับนำไปพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาซึ่งล้วนเป็นนายสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ ฉบับนี้ว่าไม่มีการพิจารณาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทำให้บางมาตราเช่น การตรวจสอบสารตกค้างที่โรงฆ่าทั้งก่อนและหลังการฆ่านั้นยากที่ปฏิบัติได้จริง รวมถึง การอนุญาตให้นำเนื้อสัตว์ตายเองมาบริโภคได้ยังขัดกับหลักวิชาชีพการสัตวแพทย์ด้วย ศ.(กิตติคุณ) น.สพ. ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงฆ่า ในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แม้เจตจำนงของ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.... จะปรับปรุงเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ดีขึ้น แต่กลับไม่ได้เปิดให้มีการแสดงความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เช่น สัตวแพทยสภา ทำให้พบว่าหลายมาตราไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค ในความเป็นจริง โรงฆ่าสัตว์เป็นสาธารณูปโภคซึ่งรัฐควรจัดหา ไม่ต่างกับ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาที่ต้องหามาให้บริการประชาชน ถือเป็นสวัสดิภาพความปลอดภัยทางอาหารและการสาธารณสุขซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ ... เมื่อเอกชนเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนรัฐ รัฐควรเป็นฝ่ายสนับสนุนก็จะก่อประโยชน์สูงสุด แต่การที่กฎหมายระบุให้ต่อใบอนุญาตโรงฆ่าสัตว์ทุก 5 ปี โดยไม่จำแนกขนาดของโรงฆ่าสัตว์ และปีในการต่ออายุนั้น นอกจากจะเป็นการไม่สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงให้เกิดการคอรัปชั่นด้วย นอกจากนี้ การกำหนดให้ตรวจสารตกค้างในสัตว์ก่อนฆ่าและหลังการฆ่านั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นโดยไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในการดำเนินการ เนื่องจากการตรวจสอบสารตกค้างในโรงฆ่าสัตว์ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อรอผลและกักกันสัตว์ 1-2 วัน ซึ่งในความเป็นจริงจะปฏิบัติตามได้ยาก เพราะโรงฆ่าสัตว์ตามกฎหมายฉบับใหม่ ต้องจัดที่สำหรับกักกันสัตว์และที่แขวนเนื้อเพิ่มเติมซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ที่สำคัญ ในพ.ร.บ.นี้ไม่ได้กล่าวถึงการกำจัดซากสัตว์ไว้ และมาตรา 35 ยังเขียนให้อำนาจพนักงานตรวจโรคสัตว์ สามารถเข้าไปตรวจและอนุมัติให้มนุษย์นำสัตว์ที่ตายเองไปบริโภคได้ ซึ่งขัดกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยสากล และขัดกับหลักวิชาชีพการสัตวแพทย์ว่าด้วยการตรวจเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค ไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภคด้วยประการทั้งปวง ศ.(กิตติคุณ) น.สพ. ดร.อรรณพ กล่าวอีกว่าหากกฏหมายกำหนดให้สามารถนำสัตว์ที่ตายเองมารับประทานได้ จะสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ ด้วยว่าเนื้อสัตว์ของไทยอาจไม่ผ่านการฆ่าอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งจะกระทบถึงการส่งออกและภาคเศรษฐกิจได้ กรมปศุสัตว์จึงควรจะออกกฎกระทรวงห้ามการนำสัตว์ที่ตายเองมารับประทานโดยเด็ดขาด และอนุญาตให้แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือเข้าโรงกำจัดซากเท่านั้น จึงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ส่วน น.สพ.บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม รองประธานสภาอุตสาหกรรม และนายกสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวระบุการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อสัตว์ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องคุณสมบัติของผู้ตรวจเนื้อสัตว์ ซึ่งในทางปฏิบัติควรเป็นวิชาชีพ ขณะที่โรงฆ่าสัตว์ในประเทศมีมากถึง 2,000 แห่ง จำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจโรคสัตว์วิชาชีพไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานและอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย ตลอดจนการขนส่งเข้าช่วยลดจำนวนโรงฆ่าสัตว์ให้เหลือน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อมาตรา 39 ที่นำมาจากพ.ร.บ.ฉบับเดิม ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศโรงฆ่าสัตว์ชั่วคราว โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย เพราะจะส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงฆ่าสัตว์ที่ขาดมาตรฐานอย่างไม่มีการควบคุม ซึ่งขัดต่อเจตจำนงของ พ.ร.บ.อย่างยิ่ง ด้าน น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ... มีข้อดีที่ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารของไทยหลายประการ อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์จะนำข้อเสนอต่างๆ ไปใช้ในการปฏิบัติงานหรือการออกกฎกระทรวงที่มุ่งสร้างความปลอดภัยของผู้บริโภค และสร้างประโยชน์สูงสุดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคปศุสัตว์และผู้บริโภคต่อไป.