เตือนพฤติกรรมเลียนแบบอย่าใช้ความรุนแรงในบ้าน/บีบลูกหนี-สู้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวถึงข่าวการฆ่าหรือจ้างวานฆ่าบุพการีว่า สาเหตุมีหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติระบบประสาท-สมอง ทำให้อารมณ์รุนแรงขาดความยับยั้งชั่งใจ , การดูแลที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง , ติดสารเสพติด ซึ่งล้วนมีผลต่อความอ่อนแอทางจิตใจที่จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ การป้องกันใช้ความรุนแรงในครอบครัวสำคัญยิ่งจึงขอแนะนำดังนี้ สร้างความรัก-ผูกพัน, ไม่ใช้ความรุนแรง, ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี , การตำหนิ-กล่าวโทษควรเป็นในทางสร้างสรรค์ การกล่าวโทษอย่างมีอคติจะนำไปสู่การทารุณทางใจอย่างต่อเนื่องเพิ่มความเก็บกดเกิดปมด้อย ที่สำคัญต้องฟังความเห็นลูก, รู้จักจัดการความเครียด พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวว่า การทำร้ายบุพการีหรือคนในครอบครัว มักเกิดกับผู้อ่อนแอทางใจ ซึ่งเกิดหลายสาเหตุ เช่น สะสมความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับ เป็นผลจากการเลี้ยงดูที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการ เมื่อเด็กได้รับประสบการณ์ซ้ำๆ ก็จะยิ่งตอกย้ำเป็นปมฝังแน่นในใจ เมื่อเข้าวัยรุ่น จะกระตุ้นให้ปลดปล่อยความต้องการที่ถูกทารุณ โดยตัดสินใจที่จะสู้หรือหนี ทางหนี คือทำร้ายตนเอง ทางสู้ คือทำร้ายผู้ที่ทำทารุณกรรม ส่วนจะสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยทางจิตหรือไม่ต้องวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ ทั้งนี้ แนวทางสังเกตพฤติกรรมลูกว่าเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงขึ้นหรือไม่ให้สังเกตจากพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ก้าวร้าวรุนแรงแยกตัว พูดน้อยลง มีการเสพสารเสพติด ซึ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตโดยเร็วและในบริเวณที่พักอาศัยไม่ควรมีหรือสะสมอาวุธที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวกอย่างไรก็ตาม การสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัวไม่ทำร้ายกันด้วยวาจาหรือร่างกาย ทำดีก็ชม ทำไม่ดีก็ต้องสอน พูดกันด้วยเหตุผลตลอดจนการสร้างระเบียบวินัยตั้งแต่เด็กย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีได้โดย สามารถขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด24 ชั่วโมง ภาพ http://blogs.thenews.com.pk/blogs