"อนุทิน" เผยนายกฯ ขอบคุณผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำรัฐบาลจนประเทศไทยควบคุมโรคโควิด-19 ได้ ระบุ "บุคลากรทางการแพทย์-ด่านหน้า"ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ครบ 100% แล้ว "คกก.โรคติดต่อฯ" ไฟเขียวหลักการให้โควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" เตรียมตั้ง "คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่" อำนวยความสะดวกให้ปชช. ส่วน"โควิดไทย"พุ่งปรี๊ด! ติดเชื้อรายวัน 8,078 ราย ตายเพิ่ม 22ราย เศร้า! ป่วยติดเตียงดับอีก 4 เมื่อวันที่ 27 ม.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 27 ม.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ได้เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ฝากให้นำคำขอบคุณมายังผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ได้ให้คำแนะนำชี้แนะแก่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 จนประเทศไทยสามารถควบคุมโควิด-19 อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ รองนายกฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ในขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง โดยการกระจายวัคซีนรวมแล้วประมาณ 114 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุมประชาชนได้ตามเป้าหมาย โดยมีผู้ได้รับได้รับวัคซีนเข็มที่ 1-2 มากกว่า 70% ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะใน กทม. ถือว่าเกิน 100% แล้ว เนื่องจากมีประชากรแฝงที่ได้รับวัคซีนใน กทม.ด้วย ส่วนผู้ได้รับเข็มที่ 3 ยังอยู่ที่ 20% เนื่องจากต้องรอให้ครบรอบการได้รับวัคซีนก่อน ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะยังได้เข็มที่ 2 แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ระดับสูงเนื่องจากเป็นการได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ซึ่งขณะนี้สูตรการฉีดวัคซีนแบบไขว้ของประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยมีการรับรองในวารสารทางการแพทย์ระหว่างประเทศหลายแห่ง ส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้าที่ต้องสัมผัสคนจำนวนมากขณะนี้ก็ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ไป 100% แล้ว นายอนุทิน กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนโควิด-19 สำหรับเข็มกระตุ้นที่เพียงพอสำหรับประชาชน ทั้งในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ก็มีการสั่งเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี 3 แสนโดสแรกตอนนี้ก็ได้มาถึงประเทศไทยแล้ว โดยผู้ผลิตจะทยอยส่งสัปดาห์ละ 3 แสนโดส ไปจนกว่าจะครบตามคำสั่งซื้อ ซึ่งจะได้กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยเริ่มจากเด็กกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มก่อน และขยายไปยังเด็กในโรงเรียน ในส่วนนี้จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนไปถึงเด็กกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขในระยะต่อไปจะดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารออยู่ เห็นได้จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอต่อ ศบค. ให้เปิดลงทะเบียนการเข้าประเทศแบบ Test & Go อีกครั้งก็ได้รับคำชื่นชมและคำขอบคุณจากผู้ประกอบการอย่างมาก และทุกฝ่ายยินดีที่ปฏิบัติตามมาตรการของทางการ และเข้าใจว่าการประกอบธุรกิจในระยะต่อไปจะต้องเป็นไปแบบ New Normal ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการจัดตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน รวมถึงการการสร้างภูมิคุ้มกันโรคอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ ด้าน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 8,078 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 7,853 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 225 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 มีจำนวน 183,587 ราย หายป่วยกลับบ้าน 6,595 ราย เสียชีวิต 22 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเตียง 4 รายรวมเสียชีวิตสะสม จำนวน 22,098 ราย สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทางการอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอน ระดับแผนบี (Plan B) แล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ ส่งผลให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สถานที่ปิด และไม่ต้องใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 รายงานข่าวแจ้งว่า มาตรการเข้มงวดระดับแผนบีดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.ปีที่แล้วเป็นต้นมา เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนบีข้างต้น กำหนดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด และต้องแสดงหลักฐานเอกสารเป็นใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครบโดสก่อนเข้าไปในสถานที่ต่างๆ เช่น บาร์ ไนต์คลับ รวมถึงสถานที่สาธารณะ ได้แก่ สนามฟุตบอล เป็นต้น โด ยนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมแห่งอังกฤษ กล่าวว่า จากการที่มีการฉีดวัคซีนและการตรวจหาเชื้อ ทำให้อังกฤษมีการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคยุโรป รายงานข่าวเผยว่า การยกเลิกมาตรการเข้มงวดดังกล่าว มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอังกฤษ ยังคงลุกลามอย่างรุนแรง และพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 24 ชั่วโมงของวันพุธที่ผ่านมา ตามวันเวลาท้องถิ่น พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวน 102,292 ราย ทำให้มีจำนวนสะสมของผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ที่ 16,149,319 ราย มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนรวม 154,802 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 12,781,312 ราย ด้าน "ราชวิทยาลัยลอนดอน" หรือ "อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน" มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุด กรณีเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ โดยระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอน ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา ที่เคยแพร่ระบาดในอังกฤษเมื่อช่วงก่อนหน้าไปเกือบสมบูรณ์แล้ว จากการที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจำนวนมากถึงร้อยละ 99 ส่วนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และจากการศึกษาวิจัย ยังพบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน จำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง 3,582 ราย เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ มาแล้วก่อนหน้า พร้อมกันนี้ คณะนักวิจัยของราชวิทยาลัยลอนดอน ยังแนะนำด้วยว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อผู้ที่เคยฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังเป็นแนวทางหลักที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพด้านการลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างมากในการรักษาในโรงพยาบาลจากการอาการป่วยหนักของผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุด มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 363,272,798 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 5,645,915 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 287,727,309 รายสหรัฐฯ พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมอยู่ที่ 74,176,403 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 898,680 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 45,421,318 ราย