นอนรพ.น้อยกว่าร้อยละ 10 ปชช.มีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงได้วัคซีนแล้ว 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 ระบุหากสถานการณ์เหมาะสมเข้าเกณฑ์ สธ.จะประกาศ เมื่อวันที่ 27 ม.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดก.สาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายอนุทินกล่าวว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตจึงลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังคงสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดีที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10 ประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น โดยหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก.สาธารณสุขจะประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง 2. เห็นชอบหลักการและแนวทางคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การเห็นชอบกรอบแนวทางบริหารจัดการไปสู่โรคประจำถิ่ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่จะมีการกำหนดแผนปฏิบัติการ มาตรการและเป้าหมายตามระยะเวลาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ไปสู่โรคประจำถิ่นตามเกณฑ์ เมื่อองค์ประกอบเข้าตามเกณฑ์ทุกอย่างจึงจะมีการประกาศ แต่จะให้ได้ภายในปี 2565 ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาเป็นวัคซีนที่ดี รวมทั้งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส ไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือนก.พ. จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด