สลด! "โควิด"คร่าชีวิต"ทารก"วัย 8 เดือน "ศบค."แถลงพบติดเชื้อใหม่ 7,587 ราย เสียชีวิต 19 ราย "กรุงเทพฯ"ติดเชื้อ 1,683 ราย อันดับโลกลดมาที่ 27 ล่าสุด"ไทย"พบ"โอไมครอน BA.2" เพิ่มเป็น 14 คน ขณะที่"วิษณุ"ลั่นนักเรียนติดโควิดไม่ควรเสียสิทธิสอบ"GAT-PAT" ระบุเหมือนตัดโอกาส เตรียมหารือ"ศธ."วางแนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.64 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีในโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงเรื่องการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ม.ค-9 ก.พ.นี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่านักเรียนที่ติดโควิด-19 จะสามารถเข้าสอบได้หรือไม่ หรือจะมีทางออกอย่างไร ว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ทราบในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะ ก.พ.จะต้องสอบคนเข้ารับราชการประมาณเกือบ 8 แสนคน คำถามมีอยู่ว่าถ้าคนที่มาสอบติดโควิด-19 จะทำอย่างไร แม้จะบอกว่าจะมีการตรวจ ATK ก็ตาม แต่ถ้าตรวจ ATK แล้วผลออกมาติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร จะแยกห้องสอบได้หรือไม่ เพราะการตัดสิทธิไม่ให้สอบนั้น มันเป็นการตัดสิทธิ ตัดโอกาสเขา ตรงนี้กำลังดูแลอยู่ กำลังหาทางออกของ ก.พ.อยู่ในเวลานี้ แต่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการไม่ทราบเรื่องว่าเขาเตรียมจัดการอย่างไรไว้ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักศึกษาหลายคนเข้าไปถามในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับแจ้งมาว่า ถ้าติดโควิดปีนี้ก็ไม่ต้องสอบ ให้ไปสอบปีหน้า ซึ่งนักศึกษารู้สึกว่าตัวเองเสียสิทธิ จะมีการแก้ไขอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเขาเตรียมการอะไรไว้อย่างไร เพราะเขายังไม่เคยมารายงานให้ทราบ เมื่อถามว่า จะสามารถให้มาสอบทีหลังได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะการสอบแต่ละอย่างโดยเฉพาะ ศธ.จะมีปัญหาในเรื่องข้อสอบ ความยากง่ายของมาตรฐานในแต่ละครั้งมันไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน พอไปสอบอีกทีหนึ่ง ออกข้อสอบใหม่ ก็อาจจะง่ายกว่า หรือยากกว่า เมื่อถามต่อว่า ถึงอย่างไรนักศึกษาก็คงไม่เสียสิทธิใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่ควรจะต้องเสียสิทธิ เสียโอกาสอะไรไป ผมเชื่อว่าอีกไม่ช้าก็จะได้คุยกัน เดี๋ยวผมจะหารือกับกระทรวงศึกษาฯ" เมื่อถามว่า แต่เรื่องนี้มีทางออกอยู่ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ให้เขาหาทางออกกันก่อน ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้ ติดเชื้อในประเทศ 7,587 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 106 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 156 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 7,801 ราย หายป่วยสะสม 2,295,569 ราย (ตั้งแต่ปี 2563) อยู่ระหว่างรักษาตัว 81,299 ราย แบ่งเป็น ในโรงพยาบาล 39,512 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 41,787 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 519 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 97 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,076 ราย (ตั้งแต่ปี 2563) ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,398,944 ราย ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 27 ของโลก สำหรับผู้ติดเชื้อ 7,587 รายใหม่ แบ่งเป็นดังนี้ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,267 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 58 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 106 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 156 ราย ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกนั้นวันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงถึง 3,320,439 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตรวม 9,647 ศพ โดยติดเชื้อมากที่สุดยังเป็นสหรัฐอเมริกา มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 443,072 ราย สำหรับ 5 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,683 ราย สมุทรปราการ 644 ราย ภูเก็ต 343 ราย ชลบุรี 335 ราย และนนทบุรี 324 ราย ส่วนรายละเอียดผู้เสียชีวิต จำนวน 19 ราย พบเป็นคนไทยทั้งหมด เป็นเพศชาย 6 ราย เพศหญิง 13 ราย อายุ 8เดือน-94 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม.มากสุด 5 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน ติดเตียง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น โดยในวันนี้พบเด็กอายุ 8 เดือน 1 ราย จากจ.สิงห์บุรี เสียชีวิตด้วย และ 15 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 2 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากบุคคลใกล้ชิด หรือคนรู้จัก วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การติดตามโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน BA.2 ในส่วนของไทย พบตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.65 เจอผู้ติดเชื้อ 14 คน จากการตรวจกว่าหมื่นคน พบว่าเป็นคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 คน ในประเทศ 5 คน พบเสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงมีโรคประจำตัว ในพื้นที่ภาคใต้ และต้องดูในสัปดาห์ต่อไปว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ขออย่ากังวล ยืนยันว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้เร็ว