วันที่ 26 ม.ค.65 นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมนายทศทิศ อ่อนมาก อายุ 51 ปี ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งทุพพลภาพจากการถูกทำร้ายขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน เป็นเหตุให้แขน ขา ข้างขวาอ่อนแรงใช้การไม่ได้ และนายสมพงษ์ นรทศ อายุ 48 ปี เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุรถบัสเฉี่ยวรถจักรยานยนต์คว่ำ นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ประสบอันตราย หรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.)พร้อมเข้าดูแลผู้ทุพพลภาพให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งการลงพื้นที่ในอำเภอหัวหิน ครั้งนี้มีนักกายภาพบำบัดจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพมาด้วยเพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านต่างๆเพื่อนำเข้าสู่การรักษา ฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ สร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต ขณะที่ น.ส.พลอย (นามสมมุติ) บุตรสาวนายทศทิศ กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่คณะของกระทรวงแรงงานมาเยี่ยมพ่อ ทำให้มีกำลังใจ โดยพ่อพิการซีกขวาใช้การไม่ได้ตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุ โชคดีที่ได้ทำประกันสังคมเอาไว้ ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาตัว และทุกๆเดือนยังได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน 6 พันบาทซึ่งสามารถช่วยลดภาระตนได้มาก “ดิฉันไม่ได้หวังอะไรมาก ขอแค่พ่อช่วยเหลือตัวเองได้ แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว ทุกวันนี้พ่อเข้าฟื้นฟูร่างกายกับสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง วันนี้ทางกระทรวงแรงงานก็ชวนให้ไปฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูของสำนักงานประกันสังคม แต่เรายังไม่ได้ตัดสินใจเพราะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพ่อ”น.ส.พลอย กล่าว นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการประกันสังคมรองเลขา กล่าวว่าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมีหน้าที่ดูแลลูกจ้างสิ้นสุดการรักษาแล้ว โดยได้รับคนที่พิการเข้ามาที่ศูนย์เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ รวมทั้งส่งเสริมให้ได้ประกอบอาชีพ ซึ่งขณะนี้มีศูนย์อยู่ 5 แห่งตามภูมิภาคต่างๆ และรับผู้เข้าฟื้นฟูได้ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็น หรือราวๆแห่งละกว่า 100 คน ทั้งนี้เดิมทีรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีอยู่จำนวน 11 ล้านคน และมาตรา 39 ที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน แต่ตามนโยบายของรัฐมนตรีต้องการให้ดูแลผู้ประกันตนทุกคนอย่างทั่วถึงจึงมีแผนที่จะขยายไปยังผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ราว 10 ล้านคน