จากกรณีประเด็นร้อนในทวิตเตอร์ จนทำให้ แฮชแท็ก #แบนทปอ พุ่งขึ้นในเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังจากที่ สมาชิกทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ทวีตภาพการแชตพูดคุยกับแอดมินเพจทีแคส โดยบทสนทนาน่าจะเป็นนักเรียน เข้าไปสอบถามแอดมินเพจทีแคสว่า "ถ้ากรณีติดโควิดก่อนสอบและหายไม่ทันวันสอบ จะต้องทำอย่างไร" แอดมินเพจทีแคสก็ตอบว่า " สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล"ระบุว่า... ยังคงไปต่อช้าๆ ไม่ถึงจุดพีค เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถตอบคำถามสื่อได้ว่า ยอดจะเริ่มลดเมื่อไร เพราะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องหลายด้านซึ่งยากจะคาดเดา ที่แน่ๆ ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจยังเพิ่มต่อช้าๆ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังทรงตัว แต่อาจเห็นเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในสัปดาห์หน้า จากการสอบทานข้อมูลในหลายโรงพยาบาล การสูญเสียเกิดขึ้นในกลุ่มคนเปราะบางและผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบถ้วน แต่สำหรับภาคการแพทย์แล้ว ทุกชีวิตล้วนมีค่า สมควรแก่การรักษาเยียวยาไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เยาวชน คือภาพสะท้อนของผู้ใหญ่ในปัจจุบัน และจะเป็นภาพจริงของผู้ใหญ่แห่งอนาคต เมื่อวานได้เชิญชวนผู้ใหญ่ในปัจจุบันให้ใส่ใจพัฒนาการด้านปอดของเด็กนักเรียน ไม่นานก็มีข่าววิวาทะเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือโควิดของหน่วยงานด้านการศึกษาในระบบการสอบทีแคส ซึ่งถือเป็นการสอบที่ตัดสินชะตาชีวิต (high-stake examination) นี่ยังจะมีการสอบสำคัญอื่นตามมาอีกหลายอย่างทั้ง GAT/PAT และการสอบเข้าเพื่อเลื่อนระหว่างช่วงชั้นทั้งในที่เรียนเดิมหรือเพื่อย้ายที่เรียน เหล่าผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและโดยอ้อมทั้งหลาย ต้องมาช่วยกันระดมสมองและทรัพยากร เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดด้านสุขภาพให้กับผู้เข้าสอบ สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองโดยต้องไม่เป็นภาระทางการเงินเกินควร และที่สำคัญต้องให้โอกาสที่เสมอภาคสำหรับทุกคนเพื่อเข้าถึงการสอบ ทั้งช่วงเวลาการเตรียมตัวก่อนสอบที่พอเหมาะและการเข้าสอบจริงจนครบตามกำหนด ผ่านมาสองปีกว่าของระบบการศึกษายุคโควิด การเรียนการสอนและการฝึกอบรมแพทย์ (แพทยศาสตร์ศึกษา) ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากแวดวงอื่น หนักหน่อยตรงที่การเรียนการสอนที่ทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยลดลง ทำให้ทักษะด้านการลงมือทำ (manual skill) ของบัณฑิตแพทย์ขั้นพื้นฐานและขั้นเชี่ยวชาญในช่วงนี้ถดถอยไป ตอนนี้เอาแค่มาตรฐานพื้นฐานก่อนแล้วค่อยไปเร่งฟื้นฟูหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นภาระของแพทย์รุ่นพี่ที่จะต้องช่วยกันดูแลให้เต็มความสามารถ การเรียนการสอนสาธิตผู้ป่วยแบบที่ไม่มีผู้ป่วยจริง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แบบแห้ง” ให้ตรงข้ามกับ “แบบสด” ที่มีผู้ป่วยจริง ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้และสร้างความเท่าเทียมให้ผู้เรียนที่อาจไม่มีโอกาสพบผู้ป่วยจริงได้เท่ากัน แต่จุดเจ็บปวด (pain point) ของผู้สอนคือ การขาดเรียนหรือการมาเรียนแต่ไม่ตั้งใจเรียน ซึ่งนำไปสู่การเช็คชื่อหรือการแสดงตัวในห้องเรียนในรูปแบบอื่น พอมาถึงยุคโควิดที่ต้องปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมมากมายเพื่อให้สามารถติดตามผู้เข้าเรียนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างการจัดระบบของแพทย์ประจำบ้านรังสีวิทยาในโครงการฝึกอบรมแห่งหนึ่งของอเมริกา ที่พยายามปิดจุดอ่อนข้างต้นโดยไม่ทำให้ยุ่งยากเกินไปนักทั้งต่อผู้เรียนและผู้สอน แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการสอนรูปแบบไหน คือการสร้างฉันทะให้กับผู้สอนและผู้เรียน ร่วมกับการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เน้นแต่การส่องติดตามดูว่าผู้เรียนออนไลน์ยังอยู่จริงหรือไม่แต่ถ่ายเดียว https://www.sciencedirect.com/.../pii/S1076633221005778... เพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมเรื่องของการศึกษา จึงกลับไปหาฟังเพลง Another Brick In The Wall ของหนึ่งในวงร็อคในตำนาน Pink Floyd ปฏิรูปกันมาก็หลายรอบแล้ว แต่การศึกษาไทยยังเดินหน้าไปอย่างต้วมเตี้ยม ยุคหลังโควิดทุกภาคส่วนต้องร่วมมือผลักดันกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะครู ที่ต้องไม่ทำตัวเป็นอิฐอีกก้อนหนึ่งในกำแพงซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก We don't need no education We don't need no thought control No dark sarcasm in the classroom Teacher leave them kids alone Hey, teacher leave them kids alone All in all it's just another brick in the wall #เดินหน้าต่อไปไม่หวั่นไหวโควิด