มองไกลถึงมิติอนาคต จากงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคต จัดขึ้นในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบ 50 ปี ภายใต้แนวคิด “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” วันที่ 17 มกราคม 2565 ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) จากทัศนะของ 4 ผู้นำด้านการศึกษาร่วมกันชี้ทิศทางพัฒนากำลังคนของไทย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ในอนาคตต้องเน้นให้คนได้เรียนรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างแตกต่างกัน โดยเจตคติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เพราะเป็นปัจจัยที่สร้างให้มีคุณธรรมนั่นคือ ความเคารพ เข้าใจผู้อื่น รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งวิธีการสร้างให้เกิดคุณลักษณะข้อนี้ได้จะแตกต่างจากข้ออื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทำให้การศึกษาต้องเปลี่ยนเป้าหมาย คือสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น โดยในคุณลักษณะทั้งสามประการควรให้ความสำคัญกับ เจตคติ (Attitude) เป็นอันดับแรก ตามด้วยทักษะ (Skill) และ ความรู้ (Knowledge) เป็นอันดับหลังสุด เพราะปัจจุบันเราสามารถหาความรู้ได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ต้องเพิ่มการ up skill อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทักษะดิจิทัล การแปลข้อมูลที่ซับซ้อน และความสามารถในการปรับตัว เราต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างคนให้มีความรู้ ยืดหยุ่น มีทักษะ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีเจตคติที่ดี มีคุณธรรม ความเคารพ เสียสละ รับผิดชอบ เพื่อก้าวสู่ความผาสุก (Well-Being) ตามเป้าหมายของ OECD ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สมรรถนะประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และเจตคติ กล่าวคือ มีความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มีทักษะความคิด วิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีมได้ ส่วนเจตคติคือมีทัศนคติและอุปนิสัยใฝ่รู้ อดทน รับผิดชอบ คนที่มีสมรรถนะและอยู่รอดได้ในโลกอนาคตคือคนที่สามารถแก้ปัญหาเป็น และปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ คนเก่งเกิดจากการใช้ความพยายามและการเรียนรู้แล้วต่อยอดสร้างสรรค์ รู้ความเป็นไปของโลกและเทคโนโลยีที่พลิกผันตลอดเวลา จากรายงานของ OECD ทำให้เห็นปัญหาของเด็กไทยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความสามารถในการอ่านที่ยังน่าเป็นห่วง ดังนั้นจึงต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอน วิธีการประเมินผล โดยเฉพาะวิธีการฝึกครูให้สอนนักเรียนให้มีสมรรถนะได้ รวมทั้งวัฒนธรรมในการจัดการศึกษา การศึกษาใหม่ต้องปรับให้มีการเล่นมากขึ้น มีศิลปะ กีฬา ละคร ฝึกงานจากของจริง ส่งเสริมการทำโครงงาน และกิจกรรมนอกเวลา ตลอดจนปรับทัศนคติการศึกษาในโรงเรียนจากเดิม TOP – DOWN ให้ครูเรียนรู้ร่วมกัน ไม่มีการข่ม และสร้างแรงจูงใจให้เด็ก วัฒนธรรมในการทำงานแตกต่างจากวัฒนธรรมการศึกษา เพราะในการทำงานเราได้ความรู้มาจากการลงมือทำจริงซึ่งเป็นเรื่องของการผสมผสานความสามารถ ในขณะที่วัฒนธรรมการศึกษายิ่งเรียนสูง ยิ่งรู้เฉพาะด้าน ในที่ทำงานเราลองผิดลองถูกได้ แต่วัฒนธรรมการศึกษาลองผิดไม่ได้ หัวใจของการศึกษาฐานสมรรถนะคือสร้าง“วัฒนธรรม” ที่เอื้อให้คนเกิดสมรรถนะ ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมการศึกษาในปัจจุบัน ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในอนาคตคนที่จะอยู่รอดได้และประสบความสำเร็จต้องมีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ ตื่นตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติดหรือมั่นใจกับความสำเร็จเดิม ๆ ต้องพร้อมปรับตัวให้ทันรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้คนในโลกอนาคตจะติดต่อกันโดยผ่านการทำงานและมีการประชุมน้อยลง เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น วิถีการทำงานมีความยืดหยุ่น ไม่ต้องเข้าที่ทำงานทุกวัน ทำงานระดับปัจเจกเพิ่มขึ้นและมีอิสระในการทำงานโดยทำงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เราได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันทักษะ Digital Literacy ได้รวมถึงการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล Culture Literacy วัฒนธรรม เพศสภาพและภาษา Learning Literacy การเรียนรู้นำสู่กลยุทธ์และวิธีการทำงานที่พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนต้องมี Ethical Literacy คือจริยธรรมอันเป็นกุญแจให้เกิดความร่วมมือ พัฒนาการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้ พลเมืองแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ ระดับโลก อาเซียน ประเทศไทย และท้องถิ่น โดยโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการจัดการศึกษาในอนาคตก็คือ จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฐานสมรรถนะ เป็นการเรียนรู้ที่ยึดโยงทุกส่วนเข้าด้วยกันทั้งหมด เรียนรู้ผ่านฐานประสบการณ์โดยไม่มองแยกส่วนเพราะเป็นการเกื้อกูลกัน ใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ ใช้ความรู้ข้ามศาสตร์เชื่อมโยงกับมิติทางอารมณ์และสังคม ฉลาดเลือก เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม การออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคต่อไปคือ ออกแบบนิเวศการศึกษาให้เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ ครูจะส่งผ่านความรู้ให้เด็กแบบเดิมอีกไม่ได้ ต้องส่งเสริมการเรียนรู้เกิดแบบธรรมชาติทั้งการเรียน onsite และ online มีความพร้อมในการเข้าถึงความรู้ ตอบโจทย์ความเข้าใจ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในวิถีชีวิตจริงจากการทำงาน สามารถลองผิด ลองถูกได้ และเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการลงมือปฏิบัติ คุณลักษณะที่ส่งเสริมการสร้างฐานสมรรถนะตอบโจทย์ของอนาคตคือ สร้างคนให้ตื่นตัวรับความท้าทายเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ล้มได้ก็ลุกได้ เข้าใจผู้อื่น ใฝ่เรียนรู้ และกำกับตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดและคลิปย้อนหลังกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง Facebook : IPST Thailand หรือ Youtube : IPST Channel ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://50th.ipst.ac.th