เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในพื้นที่จังหวัดยะลา แนะรัฐบาล เร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมู หลังพบการระบาดในหลายพื้นที่ พร้อมเสนอ ในแต่ละพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงสุกร ให้กับเกษตรกรรายย่อย ลดการเคลื่อนย้ายสัตว์ วันที่ 19 ม.ค. 65 นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกันหมู หรือโรค ASF ที่ทางปศุสัตว์ ได้ออกมายอมรับนั้น พบการระบาดในหลายพื้นที่จริง ซึ่งโรค ASF ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบ เป็นวงกว้าง ในหลายพื้นที่ รวมทั้งบรรดาพ่อค้าหมู ตามตลาดสดต่างๆ เพราะปัจจุบันนี้ ราคาเนื้อหมูสูงขึ้น เกิดจากสภาวะของแม่สุกรที่เจอโรคถูกทำลายทั้งระบบ ตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อโรงงานผลิตลูกสุกรไม่มี เกษตรกรก็ไม่สามารถเอาลูกสุกรมาเลี้ยงได้ พอเลี้ยงไม่ได้ก็ไม่มีหมูเข้าสู่ตลาด เหมือนดีมานด์ซัพพลาย ทำให้ราคาหมูในตลาดแพงขึ้น ก่อนหน้าที่จะเกิดโรคนี้ มีโรคโควิดอยู่ ตลาดต่างๆ ร้านค้า ร้านอาหาร ก็ไม่ได้ดำเนินการ มีการแจกของแจกข้าว ความต้องการหมูก็ลดลง แต่หลังจากปีใหม่ที่ผ่านมา ร้านค้า ร้านอาหารเริ่มเปิด เริ่มกลับมาปกติ การใช้เนื้อหมู ก็มีเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็สะท้อนความเป็นจริงว่า หมูขาดตลาดจริงๆ ภาคกลางเป็นภาคที่มีการเลี้ยงสุกร นครปฐมเป็นเมืองหลวงของการป้อนสุกรให้กรุงเทพ หมูไม่มีป้อนเข้ากรุงเทพ แต่ช่วงระยะหนึ่งก็ใช้หมูห้องเย็นที่เก็บสะสมเอาไว้ตอนราคาถูก ป้อนเข้าไปก่อน สุดท้ายหมูในห้องเย็นหมด แต่ตลาดยังต้องการอยู่ ราคาก็เลยปรับขึ้นตามกลไกลตลาด ซึ่งถือว่าราคาเนื้อหมูในขณะนี้ถือเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการ ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในรอบ 100 ปี "ถ้ารัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในตอนนี้ เชื่อว่าราคาหมูหน้าฟาร์มอาจจะสูงขึ้น กก.ละ 120 บาท แต่ตนเองเชื่อว่าหากทางภาครัฐยังไม่ให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการพัฒนาวัคซีนขึ้นมา หลังจากนี้ไปเลี้ยงไปก็ไม่รอด ซึ่งตนมองว่าในการเลี้ยงหมูในอนาคตถ้ายังอยู่แบบนี้ ก็จะต้องใช้วิธีเลี้ยงแบบระบบปิด ซึ่งทางเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนเกษตรกรรายใหญ่จะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีความรู้ มีเทคโนโลยี และมีทุนทรัพย์ ซึ่งถ้าจะให้เกษตรกรรายย่อยไปทำก็จะต้องให้ทุน สนับสนุนเทคโนโลยี” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว โดย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รายนี้ ยังบอกอีกว่า หลังจากนี้ไปหากมีการทำวัคซีนได้แล้ว อยากให้ทางกรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางรัฐบาล ได้รับรู้ว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ คือการเคลื่อนย้ายโรค วิธีการแก้คือ จังหวัดใดที่มีความต้องการสุกรมากน้อยขนาดไหน ก็ให้เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง โดยรัฐส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง แล้วส่งให้ชาวบ้านในพื้นที่กิน เน้นส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงหมูให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ในแต่ละจังหวัด ลดการเคลื่อนย้ายสุกรจากต่างพื้นที่ให้น้อยที่สุด ที่ตนเชื่อว่าถ้าต้องการให้อาชีพนี้อยู่ได้ ก็จะต้องมีการวางแผนเตรียมการเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นเกษตรกรรายย่อยก็จะอยู่ไม่ได้ ก็จะส่งปัญหาเรื่องอาชีพ กระทบกันไปหมด จึงอยากให้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องรีบวางแผนดำเนินการส่งเสริมให้เลี้ยงกันภายในจังหวัด แล้วกินภายในจังหวัด ในเขตของตัวเอง